เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 4
By Paul Sansopone
เที่ยวปารีสแบบคุ้มค่า
เที่ยวปารีสแบบไหนดี เริ่มต้นแบบไหนถึงจะเรียกว่าได้ทำความรู้จักนครหลวงแห่งนี้ในทุกแง่ทุกมุม สมกับสิ่งที่ปารีสมีนำเสนอให้ จากประวัติศาสตร์กว่า 2000 กว่าปี จากการบรรจงก่อร่างสร้างความศิวิไลซ์ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรมหรือศิลปะของแต่ละยุคสมัย ประกอบกับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตในแบบชาวปารีเซียนที่รักความสนุกร่าเริงแบบมีสไตล์ ตลอดจนความประณีตพิถีพิถันในการกินการดื่มที่ไม่ธรรมดา นั่นทำให้การมาเที่ยวที่นี่แบบผิวเผินถือว่าไม่คุ้มค่าเลยครับ เริ่มจากตอนนี้ผมจะพาท่านไปเที่ยวปารีสในแบบที่มีสาระ
1.เที่ยวชมสถาปัตยกรรมระดับโลกของกรุงปารีส
เป็นธรรมดาที่โปรแกรมท่องเที่ยวไม่ว่าไปที่ไหนย่อมต้องมี “ทัวร์วัด-ทัวร์วัง” (ยกเว้นประเทศเกิดใหม่อย่างอเมริกาหรือออสเตรเลียซึ่งมักไปดูทิวทัศน์ของเมืองหรือสถาปัตยกรรมที่เป็นLandmarkของเมืองแทน) เราต้องยอมรับว่าการที่ปารีสติดอันดับเมืองที่สวยติดอันดับโลกมาก็เพราะ สิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากทำเลที่ตั้งของปารีสก็ไม่ได้ถือว่าโดดเด่นเหมือนกับเมือง Sydneyหรือ San Francisco ที่ตั้งอยู่บนอ่าวธรรมชาติมองไปทางไหนก็สวยงาม เพียงแค่ปารีสตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเซนซึ่งหากไม่มีสถาปัตยกรรมของนครหลวงแห่งนี้มาช่วยเสริมบารมีแล้วมันก็อาจเป็นแม่น้ำธรรมดาสายหนึ่ง
ปารีสเป็นเมืองเก่าแก่ ทำให้มีสถาปัตยกรรมของแต่ละยุคสมัยเกือบทุกรูปแบบ เริ่มจากความที่เป็นเมืองคาธอลิคที่เคร่งครัดศรัทธาในคริสต์ศาสนา ประกอบกับความที่เป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ของยุโรปและมีระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุข จึงสามารถเกณฑ์ช่างฝีมือหรือสถาปนิกหัวหน้าโครงการที่เก่งที่สุดในแต่ละยุคมาสร้างสรรค์งานในแบบที่ไม่มีขอบเขตจำกัดได้ ทำให้วัดวังของที่นี่ไม่เป็นรองที่ไหนๆ
เราจะเที่ยวชมสิ่งก่อสร้างของกรุงปารีสโดยไล่จากยุคเริ่มแรกมาจนถึงยุคปัจจุบันไปด้วยกัน ได้เรียนรู้(เล็กๆ น้อยๆ)เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแต่ละยุคไปด้วยในตัว
I.สถาปัตยกรรมในยุคโรมัน Gallo Roman Era (50BC -508AD)
ตั้งแต่สมัยยุคปี 225 BC มีหลักฐานบ่งชัดว่าบริเวณที่ตั้งเมืองปารีสนั้นเป็นที่อยู่ของชาว ‘Celtic’ เผ่าปาริซี่ ‘Parisii’ มานมนานแล้ว โดยจุดที่ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ก็คือที่เกาะกลางแม่น้ำเซนที่ชื่อ ‘ซิเต้’ ซึ่งชื่อเผ่านี้ก็เป็นที่มาของชื่อเมืองParis นั่นเอง แต่พอมาในปี 52 BC ซึ่งเป็นยุคที่โรมันเรืองอำนาจนั้น ต้องบอกว่าไม่มีใครทานอำนาจของกองทัพโรมันได้ ที่นี่จึงกลายมาเป็นเมืองอาณานิคมของโรมัน นำโดยจอมพลชื่อ Titus Labienus และถูกตั้งชื่อว่าเมือง ลุดเตเตีย Lutetia(Lutèce)หรือ Lutetia Parisiorum (Lutece of the Parisii) และแน่นอนว่าถ้าทหารโรมันไปที่ไหนก็มักจะฝากผลงานในรูปแบบของวิศวกรรมโรมันอย่างใดอย่างหนึ่งฝากเอาไว้ อาจเป็นป้อมค่าย หรือถนน หรือ Aqueduct สะพานลำเลียงน้ำหรือบ่ออาบน้ำ Roman Bath และสนามกีฬาหรือโรงละครกลางแจ้งที่เรียกว่า Amphitheatre สำหรับในฝรั่งเศสนั้นจะพบมรดกของโรมันได้ทุกรูปแบบแต่มักจะอยู่ในหัวเมืองทางตอนใต้เป็นส่วนใหญ่แถบ Provence
ภาพบนเป็น ปารีสในศตวรรษที่ 3 ตอนเป็นเมืองอาณานิคมของโรมันที่ชื่อลุดเตเตีย Lutetia (Lutèce)
สำหรับที่ปารีสนั้นก็ถือว่ามีโรมันสถานเกือบทุกรูปแบบที่กล่าวมาแต่หลงเหลืออยู่ไม่มาก เพราะหลังจากโรมันเริ่มเสื่อมอำนาจไป พวกบาร์บาเรี่ยน (Barbarians) ก็เข้ามาทำลายหลายๆ อย่างแบบไม่เห็นคุณค่าและพอเข้าช่วงยุคกลางหรือที่ได้รับฉายาว่ายุคมืดนั้น ทุกอย่างเหมือนเป็นการเดินถอยหลัง สิ่งที่โรมันทิ้งไว้ถูกรื้อถอนทำลายเพื่อเอาอิฐหินปูนไปทำอาคารบ้านเรือนของตนเอง แทบไม่เหลืออะไรในยุคโรมันให้ดูเท่าไร แต่เนื่องจากเราเป็นนักท่องเที่ยวแบบชอบเสาะแสวงหา ดังนั้นบทความในตอนนี้ขอเอาใจนักโบราณคดี แบบ Indiana Jones หน่อยครับ จึงแนะนำให้ไปดูสถานที่เหล่านี้
1.ถนนโรมันในปารีส
ถ้าเป็นถนนก็แน่นอนว่าไม่ว่าโรมันไปที่ไหนจะมีการวางผังเมือง โดยการวางถนนสายหลักเป็นเส้นจากทิศเหนือลงทิศใต้ (north–south-oriented street ) เสมอไม่ว่าไปสร้างเมืองที่ไหน โดยถนนนี้จะเรียกว่า ‘Cardo Maximus’ ปัจจุบันเป็นถนนแซงช๊าคและแซงค์มาแตง (Rue Saint-Jacques, Rue Saint-Martin) ที่ตัดผ่านกลางเมือง แม้ว่าหลักฐานในปัจจุบัน(วัสดุก่อสร้างเดิม)ไม่มีให้เห็นมากนัก
และยังมีที่ถนน Rue de la colombe ในเกาะซิเต้ ที่มีร่องรอยของถนนในยุคโรมันชัดเจน ในส่วนที่คล้ายกับเป็นทางข้ามแต่มันคือแนวกำแพงเดิมที่ใช้หินในยุคนั้น
2.สนามกีฬาหรือโรงละครกลางแจ้งแบบโรมันในปารีส (Les Arènes de Lutèce – Paris Amphitheatre)
ภาพปัจจุบันเปรียบเทียบกับสมัยที่ยังสมบูรณ์แบบภาพล่าง
ไม่น่าเชื่อว่าปารีสก็มีสนามกีฬาหรือโรงละครกลางแจ้งที่เรียกว่า Amphitheatre แบบคอลอสเซี่ยมที่กรุงโรม แต่ขนาดแตกต่างกันเยอะ เนื่องจากประชากรของ Lutetia ตอนนั้นมีแค่ไม่ถึง 20,000 คน สนามกีฬาแห่งนี้จึงทำไว้ที่ความจุประมาณ 17,000 ที่นั่งเท่านั้น สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ใช้เป็นที่แสดงให้ความบันเทิงทุกรูปแบบและเป็นสนามประลองของเชลยศึกที่เรียกว่า Gladiatorial Combats ด้วย สนามกีฬานี้ถูกทำลายลงโดยพวกบาร์บาเรี่ยนในปี ค.ศ.280 โดยมีการนำอิฐหินไปก่อสร้างกำแพงที่เกาะซิเต้ อย่างไรก็ตามในปี 1860 สถานที่แห่งนี้ได้ถูกค้นพบอีกครั้งในช่วงการก่อสร้างอาคารและพบว่ามันเป็นโบราณสถานที่มีค่า ทำให้มีการบูรณะอีกครั้ง นำโดย Victor Hugo นักเขียนบทกวีชื่อดังชาวฝรั่งเศส และถูกเรียกว่า เลซาเรนน์ Les Arènes ที่แปลว่า Arena มาตั้งแต่ตอนนั้น และกลายเป็น จัตุรัสสาธารณะ( Public Square) มาตั้งแต่ปี 1896
3. บ่ออาบน้ำสาธารณะแบบโรมัน Roman Bathhouse – Thermes de Cluny
แตร์เม เดอ คลูนี (Thermes de Cluny) เป็นสถานที่อาบน้ำสาธารณะแบบโรมันที่สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่3 แต่มีความสมบูรณ์แบบอยู่มาก เนื่องจากมีการใช้ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงยุคกลาง การออกแบบและการใช้วัสดุเป็นแบบโรมันแท้ๆ มีบ่อน้ำร้อนและน้ำเย็นที่ Frigidarium และมีกำแพงสูง 14 เมตร ของเดิมที่ในสมัยนั้นจะประดับด้วย Mosaics ปัจจุบันเราสามารถไปดูได้เพราะสถานที่นี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์สถานชาติแห่งยุคกลางหรือ Musée National du Moyen Age ของปารีส
4. ซากปรักโรมันหรือ Roman Ruin ที่ Notre Dame Archaeological Crypte
ซากปรักโรมันหรือ Roman Ruin ที่ชัดๆ ในปารีสและเป็นเรื่องเป็นราวน่าศึกษาอีกแห่งจะอยู่แถวบริเวณใต้ลานหน้าวิหารโนเตรอดามที่เรียกว่า พลาซดูปาร์วิส (Place du Parvis) ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่จอดรถใต้ดิน มีทั้งที่เป็นซากที่เหลือของท่าเรือริมแม่น้ำเซนและที่อาบน้ำสาธารณะแบบโรมัน
ภาพบนเป็นที่อาบน้ำแบบโรมันที่ค้นพบอีกแห่งที่นี่
แต่ที่นี่ไม่ได้มีแต่ซากปรักของโรมันเท่านั้น เนื่องจากต้นกำเนิดของเมืองนี้มีชาว Celtic เผ่าปาริซี่ ‘Parisii’ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ และต่อจากสมัยโรมันเข้าสู่ยุคกลางจุดนี้ก็ถือเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของพวก Franks บรรพบุรุษของชาวฝรั่งเศสที่สามารถเอาชนะพวกโรมันได้อย่างราบคราบ และปักหลักสร้างฐานอยู่ที่นี่ ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เรียกว่ามีโบราณวัตถุของหลายยุคหลายสมัยอยู่จนเข้าสู่ยุคกลาง น่าสนใจมากเพราะไหนๆ เราก็ต้องมาเที่ยวโนเตรอดามอยู่แล้ว
5.สุสานใต้ดินของปารีส THE CATACOMBS OF PARIS
ไม่น่าเชื่อว่าสุสานใต้ดินของกรุงปารีสจะอยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวหลายๆ คนที่มาแล้วต้องไปดูให้ได้ จริงๆ แล้วที่สุสานมันไม่ได้มีความเก่าแก่อะไรขนาดอยู่ในสมัยโรมัน ซึ่งเป็นธีมการเที่ยวของเราในตอนนี้ แต่ว่าอิฐหินปูนที่นำมาสร้างอุโมงค์ใต้ดินนั้นต่างหากที่พบว่ามันเป็นวัสดุของยุคเมืองลุคเตเตียอยู่มากพอสมควร ประกอบกับการเก็บศพไว้ในสุสานใต้ดินที่เรียกว่า คาตาคอม แบบนี้ชาวโรมันเป็นผู้ริเริ่ม ท่านที่ไปเที่ยวโรมมาแล้วก็จะทราบ เพราะโรมในยุคนั้นมีสิ่งก่อสร้างมากมาย เริ่มต้องการพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มเรื่อยจึงต้องมีการรื้อสุสานหลายแห่งและนำศพหรือโครงกระดูกลงไปเก็บไว้ใต้ดินและตามแนวถนนAppiaที่เก่าแก่ เลยขอเอารวมในตอนนี้ด้วย
หนังสือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ช่วงเกิดสงครามศาสนา ที่มีการพูดถึง ป่าช้าที่เก่าแก่ที่สุดของปารีสที่ชื่อ Cimetière des Saints-Innocents
เรื่องราวของกรุงโรมก็เหมือนที่ปารีสหรือเมืองใหญ่ทุกแห่งในโลกก็คือต้องมีการย้ายหรือล้างป่าช้า เมื่อเมืองมีการขยายตัว
ที่ปารีสนั้นป่าช้าในเมืองแห่งแรกที่ถูกย้ายคือป่าช้าที่เก่าแก่ที่สุดของปารีสที่ชื่อ Cimetière des Saints-Innocents ในสมัยก่อนยุคปฏิวัติฝรั่งเศสช่วงปี 1785 นี่เอง เนื่องจากเมืองขยายและผู้คนก็กลัวเรื่องเชื้อโรคและต้องการสุขลักษณะในการอยู่อาศัยเลย ย้ายไปอยู่ใต้ดินในย่านนั้นซึ่งใต้ดินแถวนั้น(ปารีส ฝั่งซ้าย)จะเป็นหินปูนที่มีโพรงมีช่องอยู่มากมาย จนช่วงต่อมาเริ่มนำศพลงไปมากขึ้นจึงมีการทำระบบอุโมงค์ที่มีกำแพงแข็งแรงยาวเป็นระยะทาง 2 กม.ลึกลงไปใต้ดิน 30 เมตรและว่ากันว่ามีศพที่อยู่ใน คาตาคอม ถึง 6 ล้านศพ ถึงขนาดมีชื่อฉายาว่า เป็น Empire of the dead บ้าง Largest grave in the world บ้าง ภาพข้างล่างคือผู้ที่มาเข้าคิวชมสุสานใต้ดินที่บางครั้งคิวยาวเป็น 2-3 ชั่วโมง และต้องเดินเกือบ 45 นาที (ไม่มีห้องน้ำ) กว่าจะสุดทางกลับออกมาได้แถมราคาตั๋วจองล่วงหน้าก็ไม่ถูกครับ €27 สำหรับผู้ใหญ่ เรียกว่าต้องใจรักจริงๆ
Credit: Wikipedia https://archaeology-travel.com/
เจอกันคราวหน้าเราจะไปเที่ยวชมสถาปัตยกรรมและศิลปะในช่วงยุคกลางของปารีสกันนะครับ