City Break Paris Part XVIII

By Pusit Sansopone

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 18
เที่ยวพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ Louvre ตอนที่ 2
การปรับเปลี่ยนของ Louvre ในศตวรรษที่17-18

กลับมาเรื่องพระราชวังลูฟว์กันต่อครับ สำหรับเรื่องการต่อเติมที่เป็นเรื่องราวหลังจากสมัยพระเจ้าอองรีที่ 4 ก็มามีในสมัยเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ที่ทำลายกำแพงด้านเหนือของปราสาท (ในปี 1624) เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ลูฟว์ไม่ใช่ลูกผสมคือเป็นทั้งสถาปัตยกรรมแบบยุคกลางและยุคเรเนอซองส์ปนกันอยู่ เพราะ Lescot Wing ที่สร้างขึ้นมาใหม่เป็นเรเนอซองส์ไปแล้ว ดังนั้นแนวคิดของสถาปนิกคนใหม่ Jacques Lemercier ก็คือการทำเลียนแบบปีกเลส์โกต์นี้ทางเหนือด้วย จึงมี Lemercier Wing (1636) เกิดขึ้น และสร้าง Pavilion หรือมุขระหว่างสองปีกคือ Pavillon de l’Horloge แต่ปัจจุบันใช้ชื่อว่า Pavillon de Sully

City Break Paris Louvre 3

ภาพลานจัตุรัสของ Louvre ด้านใน หรือ Cour Carrée (ไม่ใช่ลานนโปเลียนซึ่งปัจจุบันมีปิรามิดแก้วตั้งอยู่) จะเห็นปีกเลสโก้ Lescot Wing ที่อยู่ด้านซ้าย โดยมีหน้ามุขนาฬิกา Pavillon de l’Horloge และมีปีกเลแมซิเอ Lemercier Wing อยู่ด้านขวา ที่สร้างcopyให้เข้ากับปีกเลสโก้

จากนั้นก็มาถึงยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ในปี ค.ศ. 1659 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ภายใต้สถาปนิก Louis Le Vau และจิตรกร Charles Le Brun (ผู้ซึ่งเป็น 2 ใน 3 ประสานของโครงการพระราชวังแวร์ซายย์ ประกอบด้วย Louis Le Vau ออกแบบพระราชวัง, Charles Le Brun ออกแบบงานศิลปะ เช่น ประติมากรรมรูปปั้นรวมทั้งงานภาพวาด และ André Le Nôtre ออกแบบภูมิทัศน์ ซึ่งทั้งหมดจะมีการพูดถึงเมื่อเราไปเที่ยวพระราชวังแวร์ซายย์) มีการทุบกำแพงทางทิศเหนือและทิศตะวันออกที่เป็นส่วนของ Louvre ยุคกลางออกไป แต่แม้ว่ากำแพงถูกทลายไปแต่โครงสร้างคือฐานของกำแพงก็ยังอยู่มีซากให้เห็นในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ในปัจจุบันดูจากรูปด้านล่าง

City Break Paris Louvre 2

จากนั้น มีการดูแลปรับปรุงและความสมบูรณ์ของพระราชวัง Tuileries และได้มีการก่อสร้างปีกอาคารให้ล้อมรอบตรงลานจัตุรัสหรือ Cour Carrée ให้ครบทั้ง 4 ด้านจากที่ก่อนหน้านี้มีแค่ปีกเลสโก้ Lescot และมีปีกเลแมซิเอเท่านั้น โดยการสร้างปีกทางทิศเหนือและเพิ่มความยาวของปีกใต้เป็นสองเท่ามีการสร้างมุขกษัตริย์ Pavillon du Roi และสร้างแกรนด์ Cabinet du Roi (หอศิลป์คู่ขนานกับ Petite Galerie) รวมทั้งโบสถ์ เลอบูร์น และการตกแต่ง Galerie d’Apollon

City Break Paris Louvre 10

ภาพด้านบนจะเห็น square court หรือ Cour Carrée ที่มีกลุ่มอาคารล้อมรอบทั้ง 4 ด้านครบแล้ว แต่ในภาพจะเห็นว่าส่วนหลังคาของตึกที่ถูกต่อเติมใหม่นั้นยังถูกทิ้งค้างไว้ และมาเสร็จในช่วงของจักรพรรดินโปเลียน เนื่องจากเจ้าหลุยส์ที่ 14 กำลังจะย้ายไปที่พระราชวังแวร์ซายย์ ทำให้มุ่งไปสนพระทัยพระราชวังใหม่ ซึ่งทำให้งานของลูฟว์ไม่เดินหน้าจนในที่สุดก็ถูกทอดทิ้งไปอีก 2 รัชสมัยคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 15และ16

Cabinet du Roi ประกอบด้วยห้องพัก 7 ห้องทางด้านตะวันตกของ Galerie d’Apollon ที่ชั้นบนของ Petite Galerie ที่ได้รับการออกแบบใหม่ ภาพวาดของกษัตริย์หลายพระองค์ถูกประดับไว้ในห้องเหล่านี้ในปี ค.ศ. 1673 และกลายเป็นแกลเลอรีศิลปะย่อมๆที่เปิดให้สำหรับคนรักศิลปะสามารถเข้าถึงได้ ที่สำคัญมีหลักฐานระบุไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสว่าห้องแกลเลอรี่นี้ได้เคยแสดงให้ทูตจากสยามได้เข้าชมใน ปี ค.ศ.1686

City Break Paris Louvre 5

ปีกด้านตะวันออกของ Louvre (1665-80) ซึ่งมีรูปแบบด้านหน้าอาคารที่คลาสสิก และมีอิทธิพลต่อการออกแบบอาคารต่างๆ ในหลายประเทศทางซีกโลกตะวันตกโดยเฉพาะในยุโรป ข้างหน้าอาคารคือลาน Claude Perrault’s Colonnade ตั้งชื่อตามสถาปนิกผู้รับผิดชอบอาคารด้านตะวันออกนี้

สำหรับปีกอาคารด้านตะวันออกนั้นรับผิดชอบโดย Claude Perrault หลังจากที่มีความพยายามจะให้ปรมาจารย์ศิลปะสไตล์บาร็อค ที่ชื่อ Gian Lorenzo Bernini สถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อดังจากโรมแสดงฝีมือออกแบบซึ่งเขาก็เดินทางมาปารีสโดยเฉพาะเพื่องานนี้ แต่ปรากฎว่ารูปแบบโดนปฏิเสธโดยพระเจ้าหลุยส์เพราะรูปแบบมันได้อิทธิพลมาจากดีไซน์ของอิตาเลียนจนเกินไปไม่ใช่ฝรั่งเศส สถาปนิก Claude Perrault ก็จัดการดำเนินการต่อไปโดยใช้สไตล์บาร็อคแบบ Classic ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับว่ามีความคลาสสิกแบบฝรั่งเศส และมีอิทธิพลต่อการออกแบบอาคารต่างๆ ในหลายประเทศในยุโรปและอเมริกา

City Break Paris Louvre 9

ภาพบนนี้เป็นภาพลานจัตุรัสหรือ Cour Carrée ในปัจจุบันถ่ายจากจุดกึ่งกลางลานที่เป็นบ่อน้ำพุแทบไม่มีใครทราบว่าอาคารแต่ส่วนแต่ละปีกด้านหน้าด้านข้างนั้นสร้างกันคนละยุคสมัยแค่ดูกลมกลืนได้อย่างดี

นอกจากนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยังทรงให้ปรับเปลี่ยนสวนตุยเลอรี Tuileries ให้เป็นสวนแบบฝรั่งเศสหรือที่เรียกว่า Jardin à la Française หรือ The French Formal Garden เพราะในยุคของพระองค์ซึ่งมีฉายาว่า “สุริยะราชา” หรือ The Sun King นั้น ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศมหาอำนาจมีความยิ่งใหญ่เกรียงไกร จะต้องมีสไตล์ของฝรั่งเศสเอง

City Break Paris Louvre 11

ภาพแบบแปลนของสวนสวนตุยเลอรี Tuileries ที่เน้นรูปทรงเรขาคณิตและวางรูปแบบให้สมมาตรโดย เลอ โนตร์

เพราะก่อนหน้านั้นพระราชวังนี้มาพร้อมกับสวนในสไตล์อิตาเลียน Italian Renaissance Garden ตามคำสั่งของพระนางคัทรินเดอเมดิชี ที่ให้ใช้ นักออกแบบภูมิทัศน์ จากเมือง Florence ที่ชื่อ Bernard de Carnesse

City Break Paris Louvre 8
รูปปั้นที่สวนตุยเลอรี Tuileries ของ เลอ โนตร์ André Le Nôtre สถาปนิกภูมิทัศน์ ออกแบบสวนตุยเลอรีส์ในสไตล์ฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1564

จริงๆ แล้วสวนสไตล์ฝรั่งเศสก็มีวิวัฒนาการและได้แรงบันดาลใจจากสวนสไตล์เรอเนซองส์ของอิตาลีในตอนต้นของศตวรรษที่ 16 นั่นเอง ต้นแบบก็คือสวนสไตล์อิตาเลียนเรอเนซองส์ที่สวน Boboli ในเมืองฟลอเรนซ์และ Villa Medici in Fiesole มีลักษณะการวางแปลง parterres ไม้ดัดไม้ดอกที่เป็นเหมือนกำแพงมีเส้นขอบมุมตัดกันชัดเจน สร้างขึ้นในรูปทรงเรขาคณิตและวางรูปแบบให้สมมาตร มีการใช้น้ำพุและน้ำตกเพื่อให้มีชีวิตชีวาในสวน มีบันไดและทางลาดไล่ระดับต่างๆ ของสวน, มีถ้ำหรือgrottos, มีเขาวงกต และรูปปั้นประติมากรรม โดยสวนจะถูกออกแบบมาเพื่อแสดงถึงกลมกลืน และความเป็นระเบียบตามอุดมคติของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา เพื่อระลึกถึงสวนโรมันต้นแบบในกรุงโรมเก่า

City Break Paris Louvre 6

แต่ในที่สุดสวนแบบฝรั่งเศสก็หาจุดยืนที่มีความแตกต่างจากสวนอิตาลี ทั้งในด้านรูปลักษณะและในด้านจิตวิญญาณ ส่วนผู้ที่เป็นต้นตำรับและถูกยกย่องว่าเป็นผู้ให้กำเนิด Jardin à la Française นั้น ก็คือนักออกแบบ ภูมิทัศน์ที่ชื่อเลอ โนตร์ André Le Nôtre นั่นเอง สวนที่เขาสร้างขึ้นได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่และความมีเหตุมีผลของฝรั่งเศสทำให้กลายเป็นสวนสไตล์ยุโรป จนกระทั่งถึงในศตวรรษที่ 18 English Garden หรือสวนภูมิทัศน์แบบอังกฤษจึงมาเป็นที่นิยมแทน

City Break Paris Louvre 1

ภาพบนเป็นผลงานชิ้นแรกๆ ที่สร้างชื่อให้กับ André Le Nôtre (1613-1700) ซึ่งเป็นนักออกแบบภูมิทัศน์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของสวนฝรั่งเศส มันคือผลงานการออกแบบสวนในปี 1656 ที่ปราสาท โวเลอวีกงต์ Vaux-le-Vicomte ของ นิโกลา ฟูเกต์ Nicolas Fouquet ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้ดูแลท้องพระคลัง (เทียบเท่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลัง) ให้พระเจ้าหลุยศ์ที่ 14

อย่างไรก็ตามการทำงานการปรับเปลี่ยนในช่วงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นั้นค่อนข้างล่าช้า เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องกว้านซื้อที่ดินและบ้านบริเวณนั้น ถ้าดูจากรูปภาพวาดขาวดำด้านบนจะเห็นว่าบริเวณรอบๆ Louvre นั้นค่อนข้างแออัดแม้แต่ในลานจัตุรัสก็ยังมีบ้านคนปลูกอยู่ซึ่งต้องมีการซื้อที่เวรคืน ยิ่งไปกว่านั้นช่วงปี ค.ศ. 1674 พระเจ้าหลุยส์กำลังจะย้ายไปที่พระราชวังแวร์ซายส์ ทำให้มุ่งไปสนพระทัยพระราชวังใหม่ซึ่งทำให้งานของลูฟว์ไม่เดินหน้า

จนในที่สุดโครงการ Louvre ก็ถูกทอดทิ้งไปอีก 2 รัชสมัยคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 และ16 ซึ่งก็ทรงประทับที่แวร์ซายส์จนมีเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส และในวันที่ 6 ตุลาคมปี ค.ศ. 1789 พระเจ้าหลุยส์ที่16 และพระบรมวงศานุวงศ์ถูกเชิญให้กลับมาอยู่ปารีสใกล้กับประชาชนที่พระราชวังตุยเลอรี Tuileries เนื่องจากประชาชนชาวปารีสเดือดร้อนเศรษฐกิจย่ำแย่ แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่ได้ดีขึ้น เพราะกองทัพของพระองค์ก็พยายามจัดการให้พระองค์และคณะหลบหนี จากปารีสไปที่ Montmédy ทำให้เกิดเหตุการณ์วันที่ 10 สิงหาคม ปี 1792 ที่เรียกว่า Journée du 10 août หรือ “The Second Revolution” มีการบุกโจมตีพระราชวังตุยเลอรีโดยพวกปฏิวัติ ซึ่งในตอนนั้นทหารที่ปกป้องคุ้มครองพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็คือ Swiss Guard (หรือกลุ่มทหารรับจ้างสวิส Mercenary Soldiers ที่ทำหน้าที่รับจ้างคุ้มครองพระราชวังหลายแห่งในยุโรปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 15 มีชื่อเสียงเรื่องความซื่อสัตย์และภักดีต่อผู้ว่าจ้างสูงสุด จนถึงปี 1874 กฎหมายรัฐธรรมนูญสวิสให้ยกเลิกไป ถือว่าทหารสวิสต้องปกป้องสวิสเท่านั้นไม่ใช่ต่างชาติ ยกเว้นกรณีที่ คุ้มครองพระสันตะปาปาที่กรุงวาติกัน)

City Break Paris Louvre 7

ภาพนี้ก็คือเหตุการณ์วันที่ 10 สิงหาคม ปี 1792 ที่ชื่อ Capture of the Tuileries Palace วาดโดย Jean Duplessis-Bertaux (1747–1819) จะเห็น Swiss Guard อยู่ในชุดสีแดงปัจจุบันดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ที่พระราชวังแวร์ซายส์ National Museum of the Chateau de Versailles

ดังนั้นเหตุการณ์ที่มีการบุกโจมตีพระราชวังตุยเลอรีก็เป็นไปตามคาดก็คือ Swiss Guard ไม่ยอมวางอาวุธไม่ยอมให้กลุ่มทหารปฏิวัติ หรือ National Guard ผ่าน จึงเกิดการต่อสู้แบบยอมตายแม้ว่าฝ่ายปฏิวัติจะมีกำลังมากว่าหลายเท่า ทำให้ Swiss Guard เสียชีวิต เพราะความกล้าหาญและซื่อสัตย์ภักดีมากว่า 600 นาย แม้ว่าหลังการต่อสู้ไม่นานพระเจ้าหลุยส์ทรงมีคำสั่งให้ Swiss Guard ยอมแพ้ก็ตาม จึงเป็นที่มาของอนุสาวรีย์ ‘สิงโตเศร้า’ The Lion Monument ที่หน้าผาเมืองลูเซินน์ Lucerne ที่เรารู้จักกันดี โดยมีข้อความจารึกสดุดี ถึงความภักดีและกล้าหาญของคนสวิสจากเหตุการณ์ครั้งนั้น in memory of the Swiss Guards : HELVETIORUM FIDEI AC VIRTUTI (To the loyalty and bravery of the Swiss) โดยเปรียบเสมือนสิงโตผู้เก่งกล้าแต่ก็ยังแพ้ได้แบบมีศักดิ์ศรี ไม่มีหนีแม้รู้ว่าต้องพ่าย

มาถึงตรงนี้ชอบมีคำถามแบบแฟนพันธุ์แท้ถามว่า “แล้วทำไมต้องไปสร้างอนุสรณ์สถานนี้ที่เมืองลูเซินน์Lucerne ทำไมไม่ซูริคหรือเจนีวาล่ะ?” คำตอบก็คือ The Lion Monument เกิดจากแรงผลักดันของร้อยตรีคาลล์ (second lieutenant Carl Pfyffer von Altishofen) นายทหารรับจ้างสวิสชาวลูเซินน์ที่อยู่ในช่วงลาพักร้อนกลับบ้านที่ลูเซินน์พอดี ในขณะที่เพื่อนๆ ต้องต่อสู้กับเหตุการณ์วันที่ 10 สิงหาที่ปารีส ทำให้เกิดสำนึกและรู้สึกผิดอยู่เฉยไม่ได้ต้องสร้างอนุสรณ์ที่รำลึกถึงเพื่อนทหารผู้กล้า จึงได้วิ่งเต้นกับเทศบาลเมืองลูเซินน์และนักการเมืองท้องถิ่นจนได้รับการอนุมัติให้สร้าง The Lion Monument ซึ่งออกแบบโดย Bertel Thorvaldsen ชาวเดนมาร์ก และมีการแกะสลักในปี 1820–21 โดย Lukas Ahorn ชาวเยอรมัน

City Break Paris Louvre 4

ติดตามการเปลี่ยนแปลงของ Louvre ในตอนต่อไปครับ