City Break Paris Part XXXIII

By Pusit Sansopone

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 33

‘พระราชวังแวร์ซาย’ (ต่อ)

ชีวิตในแวร์ซาย ตอน 2 (Life in the court)

City Break Paris Life in Versailles Part II -15

รูปข้างบนนี้มองออกจากพระราชวังไปจะเห็นอาคารโค้งรูปตัว U 2 อาคารซึ่งสร้างไว้เพื่อเป็นคอกม้าสำหรับม้า 2,500 ตัว ที่เก็บรถโค้ชเทียมม้าอีก 200 คัน และยังมีคอกหมาล่าสัตว์อีกเป็นพันตัว

ความหมายของคำว่า Life in the (royal)court ก็จะหมายถึงชีวิตของผู้เกี่ยวข้องกับพระราชวังแห่งนี้ทั้งหมดเพราะหลังจากวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1682 ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประกาศให้พระราชวังแวร์ซายส์เป็นที่ตั้งของรัฐบาลฝรั่งเศส “ในทางปฏิบัติระบบราชการทั้งมวลก็ต้องย้ายออกจากกรุงปารีสไปยังแวร์ซายชานเมืองอันเป็นที่ตั้งของพระราชวังหรูหราแห่งนี้ Courtiers หรือผู้ติดตามทั้งหลายรวมๆ กันแล้วถึง 20,000 คนซึ่งประกอบด้วยทหาร 9,000 นาย, คนรับใช้ สนมกำนัล 5,000 คน ลอร์ดและสมาชิกขุนนางผู้ดีน้อยใหญ่ประมาณ 1,000 คน ที่อยู่ประจำและที่ไปๆ มาๆ อีกกว่า 1,000 ราย และสุดท้ายเป็นข้าราชการอีก 4-5,000 คนที่ต้องมาอยู่ใกล้ชิดที่นี่เพื่อจัดการงานราชการให้ลุล่วง การมาอยู่ในพระราชวังนั้นก็เพื่ออยู่ในสายตาของพระองค์และเรียกใช้งานได้ มีระเบียบว่าพวกเขาต้องสวมเสื้อผ้าใหม่ (มี dress code) สำหรับงานเลี้ยงของกษัตริย์ (fêtes) และโอกาสทางสังคมที่สำคัญอื่นๆ พวกเขาอาจขออนุญาตให้กลับไปเยี่ยมบ้านได้เป็นระยะ ๆ นอกเหนือจากคนแต่ละระดับแล้ว ยังมีม้าอีก 2,500 ตัว รถโค้ชเทียมม้าอีก 200 คัน และหมาล่าสัตว์อีก 5,000 ตัวที่อยู่รอบๆ พระราชวัง

และแน่นอนว่าชีวิตของผู้คนทั้งหมดรวมทั้งสัตว์เหล่านั้นจะมีกิจกรรมและหน้าที่ขึ้นอยู่กับตารางภารกิจประจำวันของพระเจ้าหลุยส์ ซึ่งเมื่อครั้งที่แล้วเราได้พูดถึงราชพิธีแรกของพระเจ้าหลุยส์ ที่14 ไปแล้ว นั่นคือพิธีการตื่นจากเตียง หรือ พิธี Levée: ( Rising ) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 8:00 น.ของทุกวันจนจบพิธีประมาณเกือบ10:00 น. คือเมื่อเสวยอาหารเช้าเสร็จ (อ่านรายละเอียดของพิธีได้ในบทความตอนที่แล้ว) วันนี้จะเริ่มพิธีต่อไปเลยดังนี้

10:00 น. พิธีการทางศาสนา
จะมีการตั้งขบวนขึ้นในห้องโถงกระจก Hall of Mirrors ที่ตรงทางออกของ King’s Apartments และพระมหากษัตริย์ก็จะจะนำขบวนข้าราชบริพารของพระองค์ผ่าน Hall of Mirrors และผ่าน State Apartments ไปยังโบสถ์หลวงเพื่อสวดมนต์ตอนเช้า ระหว่างทางเดินผู้ที่ได้มารวมตัวกัน 2 ข้างทางก็จะได้พบกษัตริย์ บางคนอาจกราบทูลสั้นๆ กับพระองค์หรือส่งใบคำร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษร

City Break Paris Life in Versailles Part II -13

ภาพบนจำลองเหตุการณ์ของกษัตริย์เสด็จผ่านห้องโถงกระจก

City Break Paris Life in Versailles Part II -3

มาถึงตรงนี้คงต้องขอพูดถึง Hall of Mirrors ห้องโถงกระจกที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่แวร์ซายนี้ออกแบบโดย Jules Hardouin-Mansart และการตกแต่งภายในเป็นหน้าที่ของ Charles Le Brun ในปี 1678 มีความยาว 73 เมตร มากกว่าครึ่งของสนามฟุตบอล และความสูง 12 ½ เมตร หรือเท่ากับสูงประมาณตึกสามชั้น มีหน้าต่างขนาดใหญ่และสูงแบบ French Window ที่มองไปยังสวนแวร์ซาย 17 บานแต่ละบานจะอยู่ตรงข้ามกับกระจกบานขนาดใหญ่ 17 บาน ที่สะท้อนแสงอาทิตย์อันอ่อนโยนดุจเรืองแสงจากพระเจ้าเข้ามาทุกๆ เช้า ห้องโถงกระจกประกอบด้วย: กระจก 357 บาน, ประตูกระจก 17 บาน โคมไฟระย้าขนาดใหญ่ 17 จุด โคมไฟระย้าขนาดเล็ก 26 จุด ผนังหินอ่อน เพดานฉาบปูนมีภาพที่เปรียบเสมือนสวรรค์มีขึ้นเพื่อเตือนผู้ที่ได้เห็นให้ตระหนักถึงสิทธิอันชอบธรรมของพระมหากษัตริย์และช่วงเวลาแห่งชีวิตอันรุ่งโรจน์ของสุริยะกษัตริย์หรือหลุยส์ที่ 14 ต้องบอกว่าช่างกระจกสุดยอดของโลกในตอนนั้นต้องเป็นช่างกระจกจากเมืองเวนิส ซึ่งถูกจ้างมาด้วยเงินที่มากโขอยู่ เพราะปกติช่างเวนิสจะไม่ยอมเปิดเผยความลับด้านวิชาการทำกระจกให้ใครเพราะมีโทษร้ายแรงมาก แต่เพราะความโลภนี่เองหลังจากทำงานที่แวร์ซายเสร็จก็ถูกทางการเวนิสส่งคนมาเก็บช่างคนนั้นเสียไม่ได้ใช้เงินอยู่ดี (มีเขียนอยู่ในเกร็ดประวัติศาสตร์)

City Break Paris Life in Versailles Part II -16

รูปของอามาเดอุส โวฟกัง โมสาร์ตเมื่อครั้งมาเล่นคอนเสิร์ตที่แวร์ซายตอนอายุเพียง 7 ขวบ รับพระราชทานจาก Marquise de Pompadour มาดามปอมปาดูพระสนมเอก ในรัชกาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15

ห้องโถงกระจกที่แวร์ซายเป็นที่ที่กษัตริย์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ใช้รับรองบุคคลสำคัญ เช่น เอกอัครราชทูตและแต่ละสัปดาห์ อาจมีงานบอลสวมหน้ากากและคอนเสิร์ต เพลงแบบ Baroque Music ที่อาจเป็นวงเล็กแบบ trio หรือ Quartets ที่มีนักดนตรีชื่อดังเช่น Mozart จาก Salzburg ที่เคยถูกเชิญมาเล่นคอนเสิร์ตที่นี่ตอนอายุเพียงแค่ 7 ขวบ (แต่ตอนมาที่แวร์ซายคือปี 1763 ตรงกับยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15) งานที่จัดขึ้นที่นี่จะจำกัดจำนวนแขก ต้องเป็นข้าราชบริพารระดับสูงเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมได้

City Break Paris Life in Versailles Part II -9

นักเปียโนชื่อดังของยุคปัจจุบันที่ชื่อแลงแลง Lang Lang ได้มีโอกาสไปเปิดคอนเสิร์ตตามคำเชิญของรัฐบาลฝรั่งเศสโดยเขาได้บรรเลงเพลงของโมสาร์ตและโชแปง ซึ่งเป็นเพลงที่เคยถูกเล่นในแวร์ซายแห่งนี้

ห้องกระจกนี้ถือเป็นห้องประวัติศาสตร์ที่มีการลงนามทำสนธิสัญญาสำคัญมากมาย เช่นเมื่อครั้งจักรวรรดิเยอรมันได้ประกาศรวมเป็นประเทศในปี 1871 และสนธิสัญญาแวร์ซายซึ่งลงนามสงบศึกสงครามโลกครั้งที่หนึ่งลงก็ในห้องนี้

City Break Paris Life in Versailles Part II -8

โบสถ์หลวง Royal Chapel มองจากด้านนอกอาคาร

จากนั้นพระองค์ก็จะเดินไปยังที่สุดทางเดินซึ่งจะเป็นโบสถ์หลวง Royal Chapel ซึ่งพระองค์จะเข้าร่วมพิธีมิสซาตอนช่วง 10:30 น. กษัตริย์และพระราชวงศ์เท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ใช้พื้นที่ชั้นสองของโบสถ์ ผู้ติดตามส่วนที่เหลือจะต้องใช้พื้นที่ชั้นล่าง

City Break Paris Life in Versailles Part II -17

โบสถ์หลวง Royal Chapel ภายในอาคารชั้นล่าง สำหรับข้าราชบริพาร

พีธีสวดรับศีล(mass) ซึ่งกินเวลานานครึ่งชั่วโมง จะมีคณะนักร้องประสานเสียงร้องเพลงแบบ Chapel Music ที่แต่งขึ้นโดยนักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศสอย่าง Lully & Lalande ซึ่งถือว่ามีชื่อเสียงของยุโรปมักจะร้องเพลงใหม่ๆ ถวายอยู่เสมอ

City Break Paris Life in Versailles Part II -5

การแสดงคอนเสิร์ต เพลงแบบ  Baroque Music ใน Royal Chapel ที่แวร์ซาย
City Break Paris Life in Versailles Part II -6

โบสถ์หลวง Royal Chapel ภายในอาคารชั้น 2 สำหรับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์

มาตรงนี้ต้องขอพูดถึงโบสถ์ของแวร์ซายสักหน่อย โบสถ์หลวงแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับนักบุญเซนต์หลุยส์บรรพบุรุษและนักบุญอุปถัมภ์ของพระราชวงศ์ฝรั่งเศส สร้างเสร็จในปีพ. ศ. 1710 ถือเป็นอาคารสุดท้ายที่สร้างขึ้นในแวร์ซายภายใต้การปกครองของหลุยส์ที่ 14 และที่โบสถ์แห่งนี้นี่เองที่ใช้ทำพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระนางมารีอังตัวเนตและพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งถือเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายที่ใช้แวร์ซายเป็นที่ประทับอีกด้วย

City Break Paris Life in Versailles Part II -12

ภาพเหตุการณ์วันอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อองตัวเนต จัดที่โบสถ์หลวง Royal Chapel ส่วนภาพล่างเป็นภาพจากภาพยนตร์ที่จำลองเหตุการณ์วันสำคัญดังกล่าว

City Break Paris Life in Versailles Part II -4

 

11:00 น. พิธีการทรงงานหรือรับรองแขก
พระองค์จะกลับไปที่อพาร์ตเมนต์ของกษัตริย์ เพื่อทรงงานโดยมีตารางประชุมสภาต่างๆ จัดในห้องประชุมของพระองค์โดยทุกวันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดี และวันอาทิตย์ (ทุกๆ สองสัปดาห์ครั้ง) จะมีประชุมสภาแห่งรัฐ ส่วนสภาสูงจัดขึ้นในวันอังคาร และวันเสาร์เป็นการประชุมสภาการเงิน ในขณะที่วันศุกร์จะเป็นประชุมสภามโนธรรม (ศาสนา) แล้วในช่วงเว้นก็จะมีสภาจัดการ (ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจการของชาติ) ได้พบกันทุกๆ สองสัปดาห์ในวันจันทร์ที่สลับกันกับการประชุมสภาแห่งรัฐ

City Break Paris Life in Versailles Part II -1

ภาพด้านบนจะมีรูปของ Jean-Baptiste Colbert หัวหน้าคณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำเรื่องอาณานิคมของฝรั่งเศสในทวีปต่างๆ โปรดสังเกตว่ามีแผนที่โลกและลูกโลกซึ่งสมัยนั้นฝรั่งเศสมีอาณานิคมอยู่ในทวีปอเมริกาทั้งในเขตประเทศแคนนาดาปัจจุบัน และแถวมลรัฐหลุยส์เซียนนา ที่ได้มาในปี 1682-1782 ซึ่งที่มาของชื่อรัฐนี้ก็คือชื่อพระองค์นั่นเอง ชื่อในภาษาฝรั่งศส คื อ Louisiane จริงๆ แล้วมันไม่แค่บริเวณรัฐหลุยส์เซียนนา แต่แผ่นดินนี้รวมที่ราบลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ทั้งหมดไปจนถึงแผ่นดินแคนนาดา น่าเสียดายที่นโปเลียนเอาแผ่นดินผืนนี้ไปขายให้อเมริกาเพื่อใช้หนี้ประเทศในปี 1803

City Break Paris Life in Versailles Part II -11

ในช่วงเวลาของวันช่วงนี้กษัตริย์ยังสามารถตัดสินใจหรือตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ร่วมกับรัฐมนตรี 5-6 คนที่ทำงานร่วมกับพระองค์ ส่วนใหญ่เมื่อได้รับคำแนะนำก็มักจะพูดน้อยคอยแต่รับฟังอย่างใกล้ชิดและการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะมาจากพระองค์ โดยเมื่อตัดสินใจแล้ว Jean-Baptiste Colbert หัวหน้าคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ประกาศเป็นคำสั่งซึ่งจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว ไม่มีการต่อรองใดๆได้อีก

City Break Paris Life in Versailles Part II -18

หรือหากมีอาคันตุกะต่างแดนหรือมีนักการทูตนัดเข้าเฝ้าก็ใช้เวลาช่วงนี้ได้ ตามภาพด้านล่าง

City Break Paris Life in Versailles Part II -7

 

โปรดติดตามเรื่องราวของแวร์ซายได้ใหม่ในครั้งหน้า ซึ่งคราวหน้าเราจะมาพูดถึงแวร์ซายในแง่ลบกันบ้าง