City Break Paris Part XX

By Pusit Sansopone
เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 20

เที่ยวพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ Louvre ตอนที่ 4

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre 3

แล้วก็มาถึงการต่อเติมครั้งล่าสุดและอาจเป็นครั้งที่ยากที่สุดตั้งแต่มีการพัฒนาปรับปรุงมากว่า 700 ปีของ Lourve ก็คือในช่วงปี 1980 สมัยของประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ชื่อ François Mitterrand ซึ่งมีโครงการขยายและปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ที่เรียกว่า ‘Grand Louvre’ ตอนนั้น Louvre ซึ่งมีอายุหลายศตวรรษพยายามต่อสู้กับจำนวนผู้เข้าชมที่เพิ่มขึ้น ทางเข้ามีขนาดเล็กเกินไป แต่ละปีกมีทางเข้าที่แตกต่างกัน และเค้าโครงมีความสับสน ทำให้ผู้เข้าชมต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะหาทางเข้าหรือทางออก ประธานาธิบดี Mitterrand จึงเสนอให้ขยายพิพิธภัณฑ์โดยย้ายกระทรวงการคลัง ซึ่งครอบครองปีก Richelieu ของ Louvre ตั้งแต่ 1873 ไปยังพื้นที่ใกล้เคียงย่านแบร์ซี่ Bercy และในที่สุดพิพิธภัณฑ์ลูฟว์สามารถครอบครองอาคารรูปตัว U ทั้งหมด

Miterrand ไม่ได้จัดให้มีการประกวดแบบแข่งขันโครงการ Grand Louvre แต่ได้แต่งตั้งสถาปนิกชาวจีนอเมริกันชื่อ Leoh Ming Pei เพื่อมาปรับปรุง Louvre และรวมทางเข้าด้านปีกอาคารที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เมื่อครั้งที่ Miterrand ไปอเมริกาได้มีโอกาสชมผลงานของ I.M Pei ที่พิพิธภัณฑ์ดังของอเมริกามาแล้ว

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre Leoh Ming Pei

Leoh Ming Pei สถาปนิกที่ไม่ใช่ชาวฝรั่งเศสคนแรก ที่เข้ามารับงานปรับปรุง Louvre

Pei เสนอให้ขุดใจกลางลานนโปเลียน (Cour Napoléon) และสร้างห้องโถงทางเข้าใต้ดินโดยทำห้องโถงนโปเลียน Hall Napoléon ที่สามารถเข้าถึงปีกอาคารและพื้นที่ทั้งสามตึกได้ รวมทั้งยังสามารถทำพื้นที่สำหรับร้านค้าร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ซึ่งจะแก้ปัญหาหลักทุกอย่างของพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าชม (Accessibility Problem)

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre 1

สำหรับโจทย์ที่ยากที่สุดก็คือตรง Main Entrance ที่จะมีการลงสู่ระดับใต้ดิน Pei ไม่ต้องการให้มันแค่เหมือนกับการลงไปสถานีรถไฟใต้ดินเท่านั้น มันต้องมี Impact และมี Wow factor ที่ต้องฮือฮาด้วย เพื่อดึงดูดผู้เข้าชมเข้าสู่ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ แต่ครั้นจะทำให้กลมกลืนกับอาคารซึ่งเก่าหลายศตวรรษ เพราะการสร้างของเก่าในยุคสมัยใหม่มันก็เหมือนไปซื้อของ Antiqueแต่ไม่ได้ของเก่าจริงๆ แต่เป็นของ Reproduction ที่เลียนแบบ และกับโจทย์ข้อที่ว่าให้ Modernize Louvre Museum นั้นก็ต้องตอบให้ได้ด้วย คือ Modernize แล้วต้องมี Link หรือ Connection กับ Louvreและฝรั่งเศสให้ได้

Pei จึงได้ศึกษาผลงานของ André Le Nôtre นักออกแบบภูมิทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามรูปแบบทางเรขาคณิตอย่างเคร่งครัด Le Nôtre คือผู้ที่ออกแบบสวนแวร์ซายและสวนตูเลอรีใกล้ๆ กับลูฟว์ หากดูภาพ 2 ภาพด้านล่างจะเป็นงานแบบแปลนของ เลอโนตร์ ที่เน้นรูปทรงเรขาคณิตอย่างชัดเจน รูปแรกเป็นแบบพิมพ์เขียวของสวนแวร์ซายและอีกรูปเป็นแบบพิมพ์เขียวของสวนตูเลอรี (Le Nôtre ‘symmetrical style of the French Formal Garden)

Versailles Garden Plan, Plan du Jardin desTuileries

Pei จึงเลือกที่จะสร้างรูปทรงปิรามิดซึ่งจะเป็นจุดเด่นที่โผล่ขึ้นมากลางลาน เขาเลือกใช้กระจกหุ้มโครงสร้างทั้งหมดเพื่อต้องการให้มีแสงธรรมชาติส่องเข้าห้องโถงใต้ดินด้านล่างได้ และไม่สร้างความอึดอัดเหมือนลงไปในสถานีรถไฟใต้ดิน
แต่ทันทีที่มีข่าวแพร่กระจายออกไปว่าจะมีปิรามิดแก้วเกิดขึ้นตรงลานหน้าลูฟว์ ก็เกิดกระแสต่อต้านวิจารณ์จากชาวปารีสเกินกว่าครึ่งโดยเฉพาะพวกอนุรักษ์นิยม เช่นเดียวกับที่มีกรณีทำนองนี้เกิดขึ้นเมื่อตอนสร้างหอไอเฟิล Pompidu Centerประตูลาเดฟองซ์ที่เป็นประตูชัยสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 20 หรือแม้แต่อาคาร Montparnasse Tower ที่มีความสมัยใหม่ และยังประณามประธานาธิบดี François Mitterrand ว่าไปเลือก Pei ซึ่งไม่ใช่คนฝรั่งเศส มีความคิดที่ไม่สามารถเข้าถึงศิลปะแบบฝรั่งเศสได้

อย่างไรก็ตามไม่นานหลังจากการเปิดอย่างเป็นทางการของปิรามิดแก้วในเดือนมีนาคมปี 1989 เสียงค้านก็ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว และปิรามิด Louvre กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ทันสมัยที่ชาวปารีสรักมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงปารีส

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre 6

ปิรามิดแก้วมีความสูงประมาณ 22 เมตร (72 ฟุต) และอยู่ห่างจากฐานเพียง 35 เมตร (116 ฟุต) ล้อมรอบด้วยปิรามิดเล็กๆ สามแห่ง มีสระน้ำล้อมรอบ และน้ำพุที่ทันสมัย ซึ่งสระน้ำจะทำหน้าที่สะท้อนเป็นเงาของรูปปิรามิดออกมาเป็นปิรามิดกลับหัวดูคล้ายกับทรงข้าวหลามตัดหรือเพชร

ในการออกแบบ Pei มีความพยายามอย่างมากที่จะทำให้ปิรามิดโปร่งใสที่สุด กรอบรูปเหลี่ยมข้าวหลามตัดแบบDiamond Shape 675 รูป และกรอบรูปสามเหลี่ยม 118 รูปถูกออกแบบมาเพื่อให้ขนาดพอเหมาะ มีเหล็กเส้น 128 เส้นและสายสลิง 16 สายที่ยึดบานหน้าต่างด้วยกัน Pei นำเทคโนโลยีจากเรือยอชท์ไฮเทคมาใช้เพื่อให้ดูล้ำสมัย มีเรื่องพูดกันตอนที่มีกระแสต่อต้านปิรามิดแก้วนี้จากพวกอนุรักษ์นิยม บอกว่ากรอบรูปเหลี่ยมข้าวหลามตัดแบบ Diamond Shape นั้นมีจำนวน 666 รูปซึ่งเป็นเลขของซาตาน ตามคริสต์ศาสนาทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมีมีจำนวน 675 รูป

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre 2

ในการปรับปรุงLouvre Phase 2 ปี 1993 มีการขยายพื้นที่ใต้ดินไปสู่การเป็นห้างสรรพสินค้าทันสมัยที่เรียกว่า Carrousel du Louvre การออกแบบก็ยึดแนวเดิมคือต้องการให้มีแสงธรรมชาติเข้าถึงมากที่สุด มันเลยออกมาเหมือนการปักหมุดด้วยปิรามิดแก้วกลับหัวซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Pyramide Inversée (Inverted Pyramid) ซึ่งปิรามิดแก้วนั้นได้เป็นสัญลักษณ์ของ Louvre อยู่แล้วไม่แน่ใจว่าได้แนวคิดมาจากเงาของปิรามิดแก้วที่สะท้อนลงน้ำเกิดเป็นปิรามิดกลับหัวเหมือนภาพด้านบนหรือเปล่า

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre 7

Inverted Pyramid

แน่นอนว่าปิรามิดกลับหัวได้รับการออกแบบโดย บริษัท สถาปัตยกรรมอเมริกันเจ้าเก่า คือ Pei Cobb Freed & Partners ซึ่งเป็นผู้สร้างปิรามิดแก้วเดิม และที่จุดจบของปิรามิดแก้วกลับหัว ยังมีปิรามิดหินที่โผล่มาจากพื้นซึ่งมีนัยยะหลายแง่มุม แม้แต่ Dan Brown ยังเอาไปใช้เป็นบทสรุปของหนังสือชื่อดัง The Da Vinci Code

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre 4

ภาพบนคือปิรามิดแก้วของ Louvre ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1980 เป็นทางเข้าหลักของ Louvre Museum โครงสร้างกระจกอันทันสมัยซึ่งสร้างความ Contrast แตกต่างอย่างดีกับอาคารโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ในขณะที่ตัวปิรามิดแก้วเองก็ได้กลายเป็น Landmark อีกแห่งของปารีสด้วยตัวของมันเอง

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre 5

ประตูทางเข้าใต้ดินไปยังโถงนโปเลียน Louvre Hall Napoléon

เป็นอันว่าการต่อเติมครั้งล่าสุดของ Louvre ก็จบไปอย่างอลังการ ปัจจุบันนี้พิพิธภัณฑ์ลูฟว์เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีกว่า 70,000 ชิ้นงานศิลปะกระจายทั่วพื้นที่ 652,300 ตารางฟุตซึ่งเป็นพื้นที่เกือบ 15 เอเคอร์ และมีผู้เข้าชมมากที่สุดโดยเฉลี่ย 8.8 ล้านคนต่อปี โดยในแต่ละวัน Louvre ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยว 15,000 คนต่อวัน และ70% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีการจ้างคนกว่า 2,000 คนทำการดูแลรักษาและบริหารพิพิธภัณฑ์และงานศิลปะ

หลังจากการเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ของฝรั่งเศสเป็นเวลากว่า 600 ปี และยังเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งตลอดจนอำนาจของฝรั่งเศสในยุคการล่าอาณานิคม และการขยายอาณาเขตซึ่งทำให้ได้ของมีค่ามากมายมาสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งนี้

ถ้าต้องการดูทุกอย่างในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์โดยใช้เวลาหยุดดู 30 วินาทีต่อชิ้นตลอดวันโดยไม่หยุดพัก จะต้องใช้เวลา 100 วัน จึงจะได้ดูครบทุกชิ้น!

แกลเลอรี่ที่มีกว่า 70,000 ชิ้นงานศิลปะนั้น เป็นภาพวาดประมาณ 7,500 ภาพ และ66% ของภาพเหล่านี้ถูกวาดขึ้นโดยศิลปินชาวฝรั่งเศส และยังมีคอลเลคชั่นอียิปต์โบราณมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แกลเลอรี่ยังแบ่งออกเป็น 8 แผนก:
•โบราณวัตถุตะวันออก
•โบราณวัตถุอียิปต์
•โบราณวัตถุกรีก, อิทรูเรียและโรมัน
•ศิลปะอิสลาม
•ประติมากรรม
•ศิลปะการตกแต่ง
•ภาพวาด
•ภาพพิมพ์และภาพวาด

ก่อนจบเรื่องราวความเป็นมาของ Louvre ในครั้งนี้ ต้องขอพูดถึง Louvre แห่งที่ 2 ที่ อาบูดาบี Abu Dhabi สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก่อตั้งขึ้นภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลปารีสกับอาบูดาบีเมื่อปี 2007 แต่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้เอง ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการนำเสนองานสถาปัตยกรรมที่ไม่น้อยหน้าของที่ Paris

Louvre Abu Dhabi 1

ไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจแบบ Franchises นั้นมันมาใช้ในงาน G to G ก็ได้ เพราะงานนี้รัฐบาลฝรั่งเศสได้เงินถึง 399 ล้านยูโรจากรัฐบาลอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับลิขสิทธิ์การใช้ชื่อ “Louvre” เป็นเวลา 30 ปี เห็นหรือยังครับว่าชื่อ Louvre นั้นมีความขลังขนาดไหน แต่ก็ไม่ใช่ได้มาแค่ชื่อ ยังถือเป็นที่ปรึกษาในการจัดแสดงและการนำชิ้นงานศิลปะจาก Louvre Paris มาโชว์ในลักษณะยืมมา Exhibit เป็นครั้งคราวอีกด้วย ซึ่งทางลูฟว์อาบูดาบี คาดหวังจะสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมแห่งหนึ่งของโลกในอนาคต

Louvre Abu Dhabi

พิพิธภัณฑ์ลูฟว์แห่งที่สอง หรือ พิพิธภัณฑ์ลูฟว์อาบูดาบี ถือเป็นพิพิธภัณฑ์สากลแห่งแรกในโลกอาหรับ มีเนื้อที่ 24,000 ตารางเมตร (260,000 ตารางฟุต) ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะขนาดใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรอาหรับ ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังชาวฝรั่งเศส ฌอง นูเวล (Jean Nouvel) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานสถาปัตยกรรมอันรุ่งโรจน์ของอารยธรรมอาหรับ และจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบโดมของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นลักษณะรังผึ้งแปดชั้นรูปทรงเรขาคณิตแบบอาหรับ มีน้ำหนักมากถึง 7,500 ตันซึ่งเท่ากับหอไอเฟล โดมสีเงินสะท้อนวัฒนธรรมและศิลปะแบบตะวันออกกลาง ความพิเศษอยู่ที่หลังคาจะสะท้อนแสงระยิบระยับเมื่อแสงแดดสาดส่องลงมา ทั้งยังช่วยลดความร้อนภายในได้อีกด้วย

มันใช้เวลาก่อสร้างนานร่วม 10 ปี โดยโครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2007 ฝ่าฟันทั้งมรสุมของราคาน้ำมันที่ลดลงและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทำให้จากเดิมที่ตั้งงบประมาณไว้ที่ 340 ล้านปอนด์ หรือราว 14,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2012 แปรสภาพเป็นโครงการมูลค่า 1 พันล้านปอนด์ หรือราว 43,500 ล้านบาท

Louvre Abu Dhabi 3

ภายในลูฟว์อาบูดาบี บรรจุชิ้นงานทางศิลปะกว่า 600 ชิ้น เป็นงานศิลปะที่นี่ และอีก 300 ผลงานที่ยืมมาบางส่วนจากลูฟว์ และจาก 13 สถาบันชั้นนำของฝรั่งเศสจาก 23 แกลเลอรี่ เช่น Paul Gauguin, Vincent Van Gogh, Pablo Picasso มีทั้งงานศิลปะ จิตรกรรม ประติมากรรม งานประดิษฐ์ล้ำค่ารวมทั้งศิลปินชาวอเมริกันอย่าง เจมส์ แอบบ็อตต์ แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์ รวมไปถึงผลงานของศิลปินจีนอย่าง อ้ายเหว่ยเหว่ย อีกต่างหาก

Louvre Abu Dhabi 2

ทางพิพิธภัณฑ์หวังว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จากทั่วโลก เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนกรุงอาบูดาบีกันมากขึ้น หลังจากเมื่อปีที่แล้วเมืองหลวงของยูเออีแห่งนี้มียอดนักท่องเที่ยวไปเยือนเพียง 4.4 ล้านคน ในพิธีเปิดตัว ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า ‘เป็นเสมือนสะพานเชื่อมอารยธรรม’

 

โปรดติดตามตอนจบของ Louvre ในหัวข้อเรื่อง “มา Louvre แล้วต้องดูอะไร?” ในตอนหน้า