By Pusit Sansopone
เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 30
‘พระราชวังแวร์ซาย’ ตอนที่ 2
เรามาพูดกันถึงเหตุการณ์ในยุคสมัยนั้นของฝรั่งเศสและไทยกันต่อครับ คราวที่แล้วพูดไป 3 หัวข้อแล้วมาต่อกันเลยครับ ต้องบอกว่าการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อก่อนเรามักจะพูดหรือเชื่อกันว่า History will never change หรือหมายถึง ประวัติศาสตร์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่สมัยนี้มันอาจไม่ใช่แล้วครับ เพราะมันอาจเปลี่ยนแปลงได้ในรายละเอียดเสมอ เพราะประวัติมันมาจากการบันทึก, การสำรวจ, หลักฐาน และสมมุติฐาน แล้วมาสรุป ดังนั้นหากมีหลักฐานใหม่หรือบันทึกใหม่ก็เป็นเรื่องราวใหม่ได้ มันก็เลยน่าสนใจตรงนี้ครับ
4.ช่วงความวุ่นวายภายในเรื่องการเมืองไทย
ภาพคณะทูตไทยพร้อมล่ามที่เดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่14 ในปี ค.ศ. 1684 วาดโดยจิตรกรชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ Jacques Vigoureux-Duplessis ตอนนี้ถูกเก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติของฝรั่งเศสในปารีส Bibliotheque Nationale de France, Paris
ไทย การสร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่ 2 นั้นไว้ต่อต้านการรุกรานของฮอลันดา นักประวัติศาสตร์ไทยอธิบายว่าด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่หลักฐานทั้งหลายไม่สนับสนุนอย่างนั้น กลับพบว่าพระนารายณ์ไปอยู่เมืองลพบุรี เพื่อความมั่นคงทางการเมืองของพระองค์เอง เพราะในอยุธยามีพวกขุนนางคิดยึดอำนาจทำรัฐประหารโค่นล้มตลอดเวลา
โดยเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ รองศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี ได้บรรยายเรื่อง “Siam in the Reign of King Narai the Great” ให้แก่อาจารย์ นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมรับฟัง ที่สถาบันเอเชีย-แอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัย Humboldt กรุงเบอร์ลิน
สอดคล้องกับการเขียนของนักประวัติศาสตร์ในยุคต่อมาว่า เหตุที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดจะประทับที่ลพบุรี ถ้าตามที่สันนิษฐานเดิมก็คือตั้งเป็นราชธานีสำรองเอาไว้หนีจากพวกดัตช์ เพราะลพบุรีเป็นที่ดอน กำปั่นรบของฝรั่งขึ้นไปไม่ถึง แต่เรื่องนี้ก็ขัดกับหลักฐานของราชทูตฝรั่งเศสที่ว่าสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาก็มากพอที่จะกีดขวางเรือใหญ่ไม่ให้เข้ามาได้แล้ว
ข้อสันนิษฐานใหม่คือพระองค์ต้องการหลบเลี่ยงจากสภาวะกดดันที่อยุธยาตามที่หลักฐานร่วมสมัยหลายชิ้นระบุ พระองค์ระแวงว่าจะถูกรัฐประหารซึ่งขุนนางทั้งหลายมีไพร่ในสังกัดที่อยุธยามาก ส่วนลพบุรีมีหลักฐานที่กล่าวว่าเหมือนเป็น ‘ฐานอำนาจ’ ของสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์สามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงมากกว่า พระองค์โปรดจะประทับอยู่นานๆ สามารถไว้พระเกียรติได้น้อยกว่าที่อยุธยา ขุนนางที่ตามเสด็จไม่ได้มีกำลังเหมือนอยู่ที่อยุธยา พระองค์สามารถเสด็จออกประพาสล่าสัตว์โดยไม่ต้องมีผู้ติดตามมากเหมือนที่อยุธยา มีชาวฝรั่งเศสร่วมสมัยกล่าวว่า เปรียบว่าลพบุรีเหมือนกับแวร์ซาย ซึ่งมีความหมายคือเป็นที่ๆ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงหลบหลีกจากความฉ้อฉลทางการเมืองในปารีส จึงเป็นการสื่อว่าลพบุรีนั้นมีนัยยะทางการเมืองอยู่
หนังสือเล่าเรื่องการเดินทางมาสยามของ Abbé de Choisy ชื่อ Journal du voyage de Siam ของช่วงปี 1685 et 1686
อย่างไรก็ตามเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต ในปี พ.ศ.2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรีก็หมดความสำคัญลง สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงย้ายหน่วยราชการทั้งหมดกลับกรุงศรีอยุธยา และในสมัยต่อมาก็ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดเสร็จมาประทับที่เมืองลพบุรีอีก จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้บูรณะเมืองลพบุรีขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ.2406 มีการซ่อมกำแพงเมือง ป้อมและประตู รวมทั้งมีการสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎในพระราชวัง พร้อมทั้งพระราชทานนามพระราชวังว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในขณะที่พระราชวังแวร์ซายนั้นยังถูกใช้ต่ออีก2รัชกาลคือในรัชสมัยของหลุยส์ที่15 และ16
ฝรั่งเศส ในส่วนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นั้น เนื่องจากพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ทรงเยาว์วัยพระชนม์มายุแค่ 5 ชันษา เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์มาก พระราชมารดาของพระองค์คือพระนางแอนจึงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และมีคาดินัล(สังฆราช)มาซาแร็งเป็นผู้อุปถัมภ์พระเจ้าหลุยส์ ช่วงนั้นก็เกิดมีความวุ่นวายภายในความขัดแย้งระหว่างพวกขุนนางกับฝ่ายราชวงศ์นำโดยพระนางแอนและคาดินัล
คาดินัล(สังฆราช)มาซาแร็งเป็นผู้อุปถัมภ์พระเจ้าหลุยส์
เมื่อพระนางพยายามรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางให้มากขึ้น และลดบทบาทของพวกขุนนางและสภาปารีสลง แต่พวกขุนนางซึ่งเสียผลประโยชน์ไม่ยอมตามด้วย ในปี 1648 พระนางแอนและคาดิดัลมาซาแรงจึงพยายามเก็บภาษีพวกขุนนางในสภาปารีส แต่พวกเขาปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามและเผาพระราชโองการทิ้ง พระนางแอนจึงให้จับพวกขุนนางในสภาหลายคนที่ต่อต้านแต่ขณะเดียวกันก็มีปฏิกริยาจากฝ่ายประชาชน เมื่อพวกเขาเริ่มรู้สึกว่ากษัตริย์เริ่มดึงอำนาจเข้าศูนย์กลางมากเกินไป ทั้งยังเพิ่มภาษีและลดอำนาจของสภาและฝ่ายพระ(บาทหลวง)ลงไปมาก ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้น พวกม็อบบุกไปถึงห้องนอนของพระเจ้าหลุยส์(ตอนทรงพระเยาว์)พระนางแอนกับพวกผู้ติดตามพากษัตริย์หนีออกจากปารีสตอนเกิดกบฎฟร็อง
ภาพในปี 1649จะเห็นราชินีแอนแห่งออสเตรีย (ยืนซ้ายสุด)พระราชมารดาของพระเจ้าหลุยส์ที่14 (ในวงกลมแดง)โดยมี Nicolas V de Villeroy ผู้เป็นเสมือนติวเตอร์ฝึกสอนวิธีการปกครองแบบกษัตริย์(นอกเหนือจากคาดินัล(สังฆราช)มาซาแร็ง)ของฝรั่งเศสยืนอยู่ด้านหลังพร้อมกับพระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่14 คือ ฟลิลิปป์ ดยุคแห่ง ออเรอง(ในวงกลมแดง)
หลังจากที่พระมารดาของพระองค์สวรรคตในปี 1666 แล้ว หลุยส์ก็มีอำนาจโดยไม่ต้องเกรงใจใครอีกต่อไป ช่วงวัยเยาว์พระองค์ฝังใจกับการที่พวกขุนนางก่อกบฎจนพระองค์ต้องหนีออกไปจากปารีส จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทรงให้สร้างวังใหม่นอกปารีสที่แวร์ซาย เพื่อให้พระองค์อยู่ห่างจากปารีส
พระเจ้าหลุยส์ทรงปกครองเองโดยเริ่มจากจากการลดทอนอำนาจของชนชั้นสูงที่เชี่ยวชาญในการรบ ด้วยมีรับสั่งให้พวกเขาเหล่านั้นรับใช้พระองค์เช่นเดียวกับเหล่าสมาชิกในราชสำนัก ซึ่งพระองค์คิดว่าถ้าอยู่ปารีสก็ควบคุมลำบากเพราะยังมีประชาชนที่ยากจนหิวโหย ที่พร้อมจะต่อต้านและก่อกบฏอยู่ตลอด และเรื่องขุนนางก่อกบฏก็ควบคุมยาก ดังนั้นพระราชวังแวร์ซายซึ่งอยู่ห่างออกไปจึงเป็นคำตอบเรื่องความปลอดภัย และใช้เป็นกลยุทธในการถ่ายโอนอำนาจแบบรวมศูนย์ เสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เพื่อให้พระราชอำนาจอันเด็ดขาดและพระองค์ก็ทรงเสนอให้ขุนนางทั้งหลายมาพำนักอยู่ที่แวร์ซายด้วย เพื่อให้ควบคุมได้ง่ายเพราะพวกขุนนางก็จะอยู่นอกสายตาของพระองค์ พระองค์จึงสร้างแวร์ซายให้ใหญ่โตมากพอที่ขุนนางทั้งราชสำนักจะมาอาศัยอยู่ได้ พระองค์ตกแต่งวังอย่างหรูหราที่สุดเพื่อให้พวกขุนนางเพลิดเพลินจนไม่คิดก่อกบฎ ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ให้ข้าราชการที่สามารถไว้ใจได้เข้าไปจัดการการปกครองดินแดนของพวกขุนนางโดยตรง ทำให้อำนาจของพระองค์เข้มแข็งขึ้นมาก แต่กระนั้นใน TV series เรื่องแวร์ซายก็ยังพยายามจะถ่ายทอดว่าขุนนางที่มาอยู่ที่แวร์ซาย ก็มีหลายรายที่เป็นปฎิปักษ์ต่อพระองค์และมีความพยายามจะใช้ยาพิษลอบปลงพระชนม์อีกด้วย
Catherine Monvoisin กัตตริน มงวัวแซงน์ ผู้ที่เป็นหมอดูเชื่อเรื่องด้านมืดนำเข้ามาในพระราชวังแวร์ซายโดยมาดาม มงเตส์ปาน (Madame de Montespan).พระสนมคนโปรดของพระเจ้าหลุยส์ที่ต้องการให้เธอมาทำยาเสน่ห์เพราะกลัวพระเจ้าหลุยส์เลิกโปรด แล้วกัตตรินก็มีการแอบเอายาพิษมาจำหน่ายในแวร์ซายให้กับฝ่ายต่อต้านพระเจ้าหลุยศ์ที่แผงตัวอยู่ในวัง และภายหลังกัตตรินถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดถูกตัดสินให้นำไปเผาทั้งเป็น
Madame de Montespan เป็นสนมเอกของ Louis XIV อยู่กว่า 10 ปี
อีกทั้งในยุคของพระองค์ที่ทรงทำให้ประเทศเกรียงไกรและแผ่ขยายอาณาเขตไปเป็นอันมาก อย่างไรก็ดี การตกอยู่ในภาวะสงครามตลอดเวลาทำให้รัฐต้องขาดดุล และต้องเก็บภาษีอากรจากชาวไร่ชาวนาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อเล็กซิส เดอ ทอกเกอวิลล์ นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสได้แสดงความเห็นว่า การที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เปลี่ยนพวกชนชั้นสูงให้กลายเป็นข้าราชบริพารธรรมดา รวมทั้งยังเข้าพวกกับผู้ดีใหม่ที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้แต่ไม่ให้มีอำนาจทางการเมือง มีส่วนผลักดันให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในเวลาต่อมา และเป็นชนวนก่อให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในที่สุด
5.ช่วงแห่งการเจริญสัมพันธ์ไมตรีและการค้า
ราชทูตสยามนำโดยโกษาปานเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ ห้องกระจก พระราชวังแวร์ซาย ณ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 (ค.ศ. 1686)
ไทย จริงๆ แล้วเรื่องการค้าการทูตนั้นมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย(คศ. 1238-1438) ซึ่งก็ปลดแอกจากอาณาจักรละโว้นั่นเองซึ่งตอนนั้นเรามีการค้าขายกับจีนในยุคของราชวงศ์ซ่งต่อเนื่องราชวงศ์หยวน โดยมีชามสังคโลกที่มีความคล้ายคลึงหัตถกรรมของจีนอยู่มาก การค้าการทูตในสมัยก่อนนั้นมีการบันทึกเป็นเรื่องเป็นราวก็ในยุคของมาร์โค โปโลชาวเวนิสที่เดินทางตามเส้นทางสายไหม ไปเข้าเฝ้ากุบไล ข่าน หลาน เจงกิส ข่านแห่งมองโกลที่ยึดจีนได้ทำให้ราชวงศ์ซ่งสิ้นสุดไปนั่นเอง แต่การเดินทางส่วนใหญ่นั้นยังเป็นการเดินทางทางบกจนมาถึงยุคเรเนซองค์ กาลิเลโอออกมาประกาศว่าโลกกลม การเดินทางทางเรือจึงไปไกลขึ้น เพราะไม่ต้องกลัว ‘ตกโลก’ ที่ขอบโลกตามที่เชื่อกันมานาน กาลิเลโอยังสอนเรื่องดาราศาสตร์ ทำให้วิชา ‘ต้นหน’ (navigation) เดินทางไปไกลได้ไม่หลง คือใช้ตำแหน่งดาวนำทาง จะเห็นว่าความนิยมและการศึกษาเรื่องหมู่ดาว(ดาราศาสตร์)นั้นเป็นที่นิยมถึงขนาดมีการสร้างหอดูดาวที่ต่างๆ เช่นที่โคเปนฮาเกน และที่พระราชวังลพบุรีของสมเด็จพระนารายณ์ก็ถือเสมือนเป็นหอดูดาวแห่งแรกของไทย
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทอดพระเนตรจันทรุปราคาร่วมกับคณะทูต นักบวชคณะเยสุอิต และนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ณ พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี
ครั้นดูดาวเป็นก็เดินทางไกลได้ คนสร้างเรือก็สร้างให้เรือใหญ่ขึ้นแข็งแรงขึ้น นั่นแหละครับเริ่มสมบรูณ์แบบก่อนช่วงสมเด็จพระนารายณ์พอดี จึงมีอาคันตุกะจากยุโรป(ชำนาญเรื่องการเดินเรือต่อเรือ) ประกอบกับการชอบสำรวจเพื่อหาอะไรใหม่ๆกลับไปขาย โดยเฉพาะเครื่องเทศและของกิน ของดื่มเช่น ชา กาแฟ นั่นแหละครับแรกเริ่มก็มีagendaแบบนั้น แต่ทำไปทำมาก็อยากจะคิดหาแผ่นดินใหม่ให้เป็นอาณานิคมของตัวเองด้วย ยุคล่าอาณานิคมจึงตามมา และชาติมหาอำนาจตอนนั้นเลยมักเป็นชาติผู้ชำนาญเรื่องการเดินเรือ
กลับเข้าเรื่องเราดีกว่าครับ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์รุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา มีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ชาวกรีกที่รับราชการตำแหน่งสูงได้เป็นถึงสมุหนายก ขณะเดียวกันยังโปรดเกล้าฯ ให้แต่งคณะทูตนำโดย เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้งด้วยกัน ผู้ที่เขียนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา และสยามมากที่สุดในสมัยนี้ก็คือ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่เลื่องลือพระเกียรติยศในพระราโชบายทางคบค้าสมาคมกับชาวต่างประเทศ รักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากการเบียดเบียนของชาวต่างชาติและรับผลประโยชน์ทั้งทางวิทยาการและเศรษฐกิจที่ชนต่างชาตินำเข้ามา นอกจากนี้ ยังได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงกวีและงานด้านวรรณคดีอันเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองที่สุดในยุคนั้น
ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) เป็นราชทูตจากประเทศ ฝรั่งเศส ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยเดินทางมาที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สิ่งที่สำคัญของลา ลูแบร์ ก็คือ จดหมายเหตุลา ลูแบร์ ที่บอกถึงชีวิตความเป็นอยู่ สังคม ประเพณี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หลายสิ่งหลายอย่างของคนในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงนับได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จเถลิงถวัยราชสมบัติ ณ ราชอาณาจักรศรีอยุธยาแล้ว ปัญหากิจการบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์เป็นไปในทางเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ด้วยในขณะนั้น มีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขาย และอยู่ในราชอาณาจักรไทยมากว่าที่เคยเป็นมาในกาลก่อน ที่สำคัญมาก คือ ชาวยุโรปซึ่งเป็นชาติใหญ่มีกำลังทรัพย์ กำลังอาวุธ และผู้คน ตลอดจนมีความเจริญรุ่งเรืองทางวิทยาการต่าง ๆ เหนือกว่าชาวเอเซียมาก และชาวยุโรปเหล่านี้กำลังอยู่ในสมัยขยายการค้า ศาสนาคริสต์ และอำนาจทางการเมืองของพวกตนมาสู่ดินแดนตะวันออก
ยกตัวอย่างเช่นในปี พ.ศ. 2230 (ค.ศ. 1687) ออกญาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี พระยาพระคลัง และออกพระศรีพิพัทธ์รัตนราชโกษาได้ลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศฝรั่งเศส อีกทั้งการส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งทรงพระบรมเดชานุภาพในยุโรป และกำลังขัดแย้งกับฮอลันดา เพื่อเป็นการคานอำนาจ
Siamese embassy to Louis XIV in 1686, by Nicolas Larmessin
ฝรั่งเศส ในขณะที่ประเทศฝรั่งเศสในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่14 นั้นได้มีการสร้างสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ามากมาย เช่น ประเทศเปอร์เซียที่พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ส่งคณะทูตไปเข้าเฝ้าสุลต่านฮุสเซนในปี ค.ศ. 1715 สร้างความสัมพันธ์กับอาณาจักร์อ๊อตโตมาน Franco-Ottoman alliance และดินแดนตอนเหนือของอาฟริกา เช่น โมรอกโค และตูนิเซีย รวมทั้งอินเดีย
หนังสือบันทึกการเดินทางมาสยามโดย นักบวชคณะเยสุอิต และนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส
มีการขยายอาณาเขตก่อตั้งอาณานิคมของฝรั่งเศสในทวีปแอฟริกา, อเมริกา และเอเชีย ในสมัยรัชกาลหลุยส์14 ก็ยังส่งนักสำรวจชาวฝรั่งเศสไปค้นพบสิ่งสำคัญในทวีปอเมริกาเหนือ ในปี ค.ศ. 1673 เช่น Louis Jolliet และ Jacques Marquette ได้ค้นพบแม่น้ำมิสซิสซิปปี Mississippi River ในปี 1682, René-Robert Cavelier, Sieur de La Salle ล่องเรือตามแม่น้ำมิสซิสซิปปีลงใต้ไปยังอ่าวเม็กซิโกและเคลมแผ่นดินที่ราบลุ่มน้ำมิสซิสซิปปีเรียกดินแดนนี้ตามชื่อพระเจ้าหลุยส์ว่า Louisiana
6.ช่วงแห่งการนำประเทศสู่เจริญสูงสุดของยุคสมัยทำให้ได้สมัญญานาม “มหาราช”
ไทย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่เลื่องลือพระเกียรติยศในพระราโชบายทางคบค้าสมาคมกับชาวต่างประเทศ รักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากการเบียดเบียนของชาวต่างชาติและรับผลประโยชน์ทั้งทางวิทยาการและเศรษฐกิจที่ชนต่างชาตินำเข้ามา นอกจากนี้ยังได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงกวีและงานด้านวรรณคดีอันเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองที่สุดในยุคนั้น เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จเถลิงถวัยราชสมบัติ ณ ราชอาณาจักรศรีอยุธยาแล้ว ปัญหากิจการบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์เป็นไปในทางเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ด้วยในขณะนั้นมีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขาย และอยู่ในราชอาณาจักรไทยมากกว่าที่เคยเป็นมาในกาลก่อน ที่สำคัญมากคือชาวยุโรปซึ่งเป็นชาติใหญ่มีกำลังทรัพย์ กำลังอาวุธ และผู้คน ตลอดจนมีความเจริญรุ่งเรืองทางวิทยาการต่างๆ เหนือกว่าชาวเอเซียมาก และชาวยุโรปเหล่านี้กำลังอยู่ในสมัยขยายการค้า ศาสนาคริสต์ และอำนาจทางการเมืองของพวกตนมาสู่ดินแดนตะวันออกทำให้พระองค์ต้องมีการจัดการอย่างละมุนละหม่อมไม่ให้เสียเปรียบ และต้องสามารถ ปฎิเสธเรื่องที่อาจทำให้ขัดแย้งกันเช่นเรื่องศาสนา
เช่นตอนนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีพระราโชบายที่จะให้สมเด็จพระนารายณ์ และประชาชนชาวไทยรับนับถือคริสต์ศาสนา ซึ่งบาทหลวงฝรั่งเศสนำมาเผยแผ่ โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงส่งพระราชสาสน์มาทูลเชิญสมเด็จพระนารายณ์เข้ารับ นับถือคริสต์ศาสนาพร้อมทั้งเตรียมบาทหลวงมาไว้คอยถวายศีลด้วย สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงใช้พระปรีชาญาณตอบปฏิเสธอย่างทะนุถนอมไมตรี ทรงขอบพระทัยพระเจ้าหลุยส์ที่มีพระทัยรักใคร่พระองค์ถึงแสดงพระปรารถนาจะให้ร่วมศาสนาด้วย แต่เนื่องด้วยพระองค์ยังไม่เกิดศรัทธาในพระทัย ซึ่งก็อาจเป็นเพราะพระเป็นเจ้าประสงค์ที่จะให้นับถือศาสนาคนละแบบคนละวิธี เช่นเดียวกับที่ทรงสร้างมนุษย์ให้ผิดแผกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ หรือทรงสร้างสัตว์ให้มีหลายชนิดหลายประเภทก็ได้ หากพระเป็นเจ้ามีพระประสงค์จะให้พระองค์ท่านเข้ารับนับถือศาสนาตามแบบตามลัทธิที่พระเจ้าหลุยส์ทรงนับถือแล้ว พระองค์ก็คงเกิดศรัทธาขึ้นในพระทัย และเมื่อนั้นแหละ พระองค์ท่านก็ไม่รังเกียจที่จะทำพิธีรับศีลร่วมศาสนาเดียวกัน
ในมุมมองของต่างชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชถือเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ และนำชาติรอดพ้นจากการถูกล่าเป็นอาณานิคมนอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ รวมทั้งยังมีการรับเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ จากชาวยุโรป และวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย มีการยกย่องโดยนักประวัติศาสตร์ต่างประเทศว่า “Narai[ was the king of Ayutthaya from 1656 to 1688 and arguably the most famous Ayutthayan king. His reign was the most prosperous during the Ayutthaya period and saw the great commercial and diplomatic activities with foreign nations including the Middle East and the West. …”
พระบรมสาทิสลักษณ์โดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส
ฝรั่งเศส ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ทรงเป็นที่รักและเคารพของประชาชนชาวฝรั่งเศส จากการที่พระองค์ทำให้ประเทศเกรียงไกรและแผ่ขยายอาณาเขตไปเป็นอันมาก ช่วงรัชสมัยของพระองค์นั้นโดดเด่นด้วยการรังสรรค์วัฒนธรรมชั้นสูงของฝรั่งเศส ภาษาฝรั่งเศสได้กลายเป็นภาษาของคนชั้นสูง และภาษาทางการทูตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 โดยเฉพาะอย่างยิ่งถือว่าฝรั่งเศสถือเป็นประเทศมหาอำนาจไม่ต่างจากสเปนและออสเตรียในช่วงนั้น
Louis le Grand; หลุยส์ เลอ กร็อง
จึงไม่น่าแปลกใจที่กษัตริย์ทั้งองพระองค์จะได้สมัญญานาม “มหาราช” ต่อท้ายพระองค์
หมายเหตุ**คำว่า มหาราช หรือ The Great เป็นชื่อต่อท้ายพระนามของกษัตริย์หรือผู้ปกครองที่ได้ทำภารกิจอย่างมากมายช่วยเหลือผู้คนทั้งด้านการรบ การแก้ไขปัญหาภายในประเทศ การรักษาเอกราชของประเทศ คงไว้ด้วยความยุติธรรมอันเป็นแบบอย่างที่ดี ในกลุ่มคนที่พูดภาษานั้นๆ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “มหาราช” เขียนไว้ที่ท้ายพระนาม ในขณะที่หลุยส์มหาราช ในภาษาฝรั่งเศสจะใช้เป็น Louis le Grand หลุยส์ เลอ กร็อง
Credit : วิกิพีเดีย, infothailand.eu, matichon.co.th,pantip