วันก่อนนั่งดูเฟสบุค มีเรื่องราวของเพื่อนหลายคนที่ดูแลคุณพ่อคุณแม่สูงวัย ก็ได้พบว่า มีเพื่อนจำนวนไม่น้อยที่พบกับปัญหาผู้ใหญ่ในบ้านป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์หรือการสูญเสียความจำ บางคนเชื่อว่านี่เป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ ถึงกับรำพึงในเฟสของตัวเองว่า“สักวันเราก็จะต้องพบประสบการณ์นี้แบบเดียวกับท่าน”ทำให้คิดว่ามันเป็นแบบนั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้จริงๆหรือ
จากการระบุจากสถิติขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาที่พบว่า โรคความจำเสื่อมหรือการสูญเสียความจำนั้น ถึงแม้กรรมพันธุ์เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่สาเหตุสำคัญในปัจจุบันที่ทำให้เกิดโรคสูญเสียนี้ก็คือ สาเหตุจากการใช้ยา ซึ่งอาการสูญเสียความจำนี้ เป็นผลข้างเคียงหนึ่งจากการบริโภคยาบางอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ นอกจากนี้ จากสถิติยังพบว่า การเสียชีวิตของคนอเมริกันจากปฏิกิริยาข้างเคียงการใช้ยา เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรมากกว่า 100,000 คนต่อปีทั้งยังเป็นสาเหตุของการป่วยเข้าโรงพยาบาลอีกกว่า1 ล้าน 5 แสนคน ซึ่งเคสเกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยาทั้งสิ้น
ยาในสามกลุ่มหลักนี้ ถูกพบว่านำไปสู่ผลข้างเคียงที่หลากหลายรวมทั้งความเสี่ยงการสูญเสียความจำเมื่อสูงวัย
1. ยานอนหลับ (sleeping drugs): นอกจากจะนำไปสู่การเสียความจำยังเป็นสาเหตุของอาการสมองเบลอเมื่อป่วยหนักหรืออยู่ในช่วงโคม่าและการเสียความจำชั่วคราวในคนที่บริโภคแอลกอฮอล์สิ่งที่ต้องรู้ก็คือ การนอนหลับโดยใช้ยานอนหลับนี้ไม่ได้ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นจากการได้นอนเพียงพอแต่อย่างใดและร่างกายก็ไม่ได้ซ่อมแซมตัวเองได้ดีขึ้นจากการนอนหลับเพราะยานี้ด้วย ยานอนหลับบางชนิดจะนำไปสู่การเห็นภาพหลอน, ความรู้สึกตื่นกลัวตอนกลางคืน, เดินละเมอ, และหลับในเมื่อขับรถ
2. ยาลดไขมันในกระแสโลหิต ( statin drugs): ยากลุ่มนี้มีฤทธ์ช่วยลดระดับไขมันชนิดเลวในกระแสโลหิต ซึ่งไขมันชนิดนี้จะถูกสร้างขึ้นที่ตับ ยาจะไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HMG-CoA reductaseซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนสารจำพวกคอเลสเตอรอลที่อยู่ในกระแสโลหิต แต่ขณะเดียวกัน มันก็ถูกพบว่าเป็นยากลุ่มหนึ่งที่อาจทำความเสียหายให้กับสมอง ซึ่งคนไข้ที่เป็นโรคของคอเลสเตอรอลมักจะได้รับการสั่งยากลุ่มนี้ให้บริโภค เพื่อรักษาสมดุลระดับคอเลสเตอรอลของร่างกายซึ่งสิ่งที่ควรรู้ก็คือสมองของเรานั้น ถูกสร้างขึ้นโดยมีส่วนประกอบหลักถึงหนึ่งส่วนสี่มาจากคอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นส่วนควบคุมการสั่งงานด้านกระบวนการคิด, ความทรงจำและการเรียนรู้ ดังนั้น การได้รับยากลุ่มนี้เป็นประจำ ก็เป็นไปได้ที่จะเสี่ยงต่อการสูญเสียความจำหรือผลข้างเคียงที่คล้ายกัน
3. ยา “ ต้าน” อาการต่างๆ(“anti” Drugs): หมายถึงยาทั้งหมดที่ใช้คำว่า “ต้าน” หรือ “anti” เช่น ยาต้านการแพ้(anti-histamines), ยาปฏิชีวนะ (antibiotics), ยาต้านความหดหู่ (anti-depressants), ยาต้านอาการทางจิตประสาท(anti-psychotics), ยาต้านการเกร็งของกล้ามเนื้อ(antispasmodics), ยาลดความดันโลหิตสูง(antihypertensive)ยาในกลุ่มทั้งหมดนี้จะมีผลกับระดับของสารอะซิทิลโคลีน (acetylcholine) ในร่างกายซึ่งเป็นสารสำคัญของระบบสื่อประสาทใช้เพื่อเก็บความทรงจำและพัฒนาการเรียนรู้, การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและความคิดการบริโภคยาเหล่านี้เป็นประจำ จะทำให้ระดับสารนี้ลดลงและเกิดอาการอาทิ ความจำเสื่อม, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, มองเห็นภาพเบลอ, โรคสมองเสื่อม (dementia), การเพ้อจากสมองสับสน, การสูญเสียกลไกของจิตใต้สำนึกทำให้คุมตัวเองไม่ได้, การเห็นภาพหลอน ฯลฯ
ดร. ริชาร์ด ซี. โมหส์ คณะจิตเวชศาสตร์โรงพยาบาลเมาท์ ไซนาย สหรัฐอเมริกาได้รวบรวมกลุ่มของยาที่อาจเป็นความเสี่ยงต่อการสูญเสียความทรงจำของสมอง หากใช้ต่อเนื่องเป็นประจำอันได้แก่:
– ยาปฏิชีวนะหรือยาแอนตี้ไบโอติก(Antibiotics)เช่นควิโนโลน (quinolone)
– ยานอนหลับ –เช่นแอมเบียน(Ambien), ลูเนสต้า (Lunesta), และโซนาต้า (Sonata)
– ยาระงับความเจ็บปวด –เช่น มอร์ฟีน (morphine), โคเดอีน (codeine), เฮโรอีน (heroin)
– อินซูลิน (Insulin)
– ยาในกลุ่มคีโมเธอราพี (Chemotherapy drugs)
– ยาแก้โรคลมชัก – เช่นไดแลนทิน (Dilantin), เฟนีโทอิน(phenytoin)
– ยากลุ่มบาร์บิทูเรท(barbiturate)เคยถูกใช้เป็นยานอนหลับและคลายกังวล ปัจจุบันก็ยังมีที่ถูกใช้เป็นยากันชักอยู่บ้าง – เช่นเนมบูทาล (Nembutal),ฟีโนบาร์บิทัล ( Phenobarbital), เซโคนาล (Seconal) และอามิทัล(Amytal)
– ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotic) – เช่นเมลลาริล (Mellaril),ฮาลโดล(Haldol)
– ยารักษาโรคพาร์กินสัน –เช่นอะโทรพีน(atropine), ไกลโคไพโรเลท (glycopyrrolate), สโคโพลามีน(scopolamine)
– ยากลุ่มเบนโซไดอะซีพีน(Benzodiazepine) เป็นยารักษาอาการจิตเวชที่ทำให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ ซึ่งแพทย์อาจสั่งยานี้เพื่อให้ผู้ป่วยสลบก่อนจะทำหัตถการเพื่อการผ่าตัด เป็นยากลุ่มที่มีการสั่งจ่ายมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ยานี้จะไปเปลี่ยนแปลงผลของสารสื่อประสาทคือกาบา ( GABA) หรือชื่อเต็มคือgamma – aminobutyric acid ยับยั้งการทำงานของนิวรอนในระบบประสาทส่วนกลางเช่นซาแนกซ์ (Xanax), แวเลียม (Valium), ดาลเมน (Dalmane), อาทิแวน (Ativan)
– ยาฆ่าเชื้อและยาต้านโรคภูมิแพ้ เช่น ควินิดีน Quinidineซึ่งใช้รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ,มาลาเรีย, อาการติดเชื้อต่างๆ ซึ่งต้องใช้โดยแพทย์เท่านั้น
– ยากลุ่มเบต้าบลอกเกอร์ (Beta blockers) เป็นยาใช้รักษาโรคหลายชนิดเช่น รักษาความดันโลหิตสูง, ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ, โรคต้อหิน, โรควิตกกังวล, ไมเกรน, ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ยานี้จะไปยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) และอิพิเนฟริน Epinephrine หรือที่รู้จักในชื่อของอดรีนาลีน
– ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง (High blood pressure drugs)
– ยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon) เป็นยาใช้รักษาไวรัสตับอักเสบ โดยยาจะไปยับยั้งไวรัสและการแบ่งตัวของไวรัส ซึ่งยานี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เป็นยาโปรตีนสังเคราะห์ ช่วยให้ร่างกายสร้างโปรตีนในโลหิตเพื่อต่อสู้กับไวรัส เพื่อจะไปยับยั้งเอนไซม์ที่ทำหน้าที่แบ่งตัวทำให้ไวรัสในร่างกายลดจำนวนลง
– ยานาโปรเซน (Naproxen) เป็นยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเซด ใช้ลดอาการปวด การอักเสบ, รูมาตอยด์, ข้ออักเสบจากสะเก็ดเงิน, เก๊าท์, เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ ฯลฯยาจะไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์และการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เป็นยาอันตรายที่ต้องให้แพทย์สั่งเท่านั้น
– ยาต้านโรคซึมเศร้าในกลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants)
– ยาเมทิลโดปา (Methyldopa) เป็นยาลดความดันโลหิตสูงในภาวะตั้งครรภ์ของผู้หญิง ยานี้จะไปขยายหลอดเลือด การใช้ต้องได้รับการยืนยันจากแพทย์เท่านั้นเพราะเป็นยาอันตราย
– ยาลิเทียม (Lithium) เป็นยาใช้รักษาอารมณ์ดีที่ตื่นตัวผิดปกติในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ เป็นยารักษาโรคทางจิตเวชที่เกี่ยวกับความยับยั้งชั่งใจ
– ยาต้านการแพ้ (Antihistamine)
– ยาสเตียรอยด์ (Steroid)
ซึ่งหากใครที่บริโภคยาเหล่านี้อยู่เป็นประจำก็ควรมีการปรึกษาหารือกับแพทย์เป็นระยะๆถึงความปลอดภัยของการใช้ยา และบอกผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับคุณให้แพทย์ได้ทราบอย่างละเอียดและหากเป็นได้ ก็ควรหาแนวทางของธรรมชาติบำบัดเพื่อรักษาโรคประจำตัวของคุณ ซึ่งจะให้ผลดีต่อสุขภาพมากกว่าหรืออาจปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนชนิดของยาที่มีความเสี่ยง คู่ไปกับการปรับเปลี่ยนไลฟสไตล์ให้เหมาะสมขึ้นรวมทั้งลดปริมาณยาที่ใช้อยู่
รู้แบบนี้แล้วทำให้รู้สึกว่ายังมีโอกาสที่เราจะป้องกันตัวเองจากการสูญเสียความจำได้ถ้าไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ ขึ้นชื่อว่า “ยา” ก็ควรใช้อย่างระมัดระวังและใช้เท่าที่จำเป็น อีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยเราไม่ให้สูญเสียความจำก็คือ การหากิจกรรมที่จะทำให้ร่างกายของเราได้เกิดความกระตือรือร้น มีการตื่นตัวอย่างสม่ำเสมอนอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยเรื่องความจำการบริโภคอาหารที่มีโภชนาการช่วยพัฒนาสมองลดบริโภคอาหารขยะก็จะช่วยสุขภาพที่ดีโดยรวมของสมองและของร่างกายได้ค่ะ
Copy right © 2016 The Editors. All right reserved.
For Advertising Contact
086-3260374
, 081-7856188