เดือนตุลาคมแห่งคำเตือนสุขภาพเรื่องมะเร็งเต้านม การตรวจแมมโมแกรมจะเป็นเรื่องหนึ่งที่เรากลัวๆกล้าๆทั้งมีคำถามในใจเกิดขึ้นมากมาย…จะไปตรวจที่ไหนดี…มันเจ็บมากไหม…ใช้เวลาตรวจนานแค่ไหนเพราะต้องมาทำงานต่อ…อายุเท่านี้ควรไปตรวจหรือยัง ฯลฯ ยิ่งจะถามมากขึ้นถ้าเป็นแมมโมแกรมครั้งแรกของคุณ วันนี้เรามีคำตอบพร้อมความรู้ที่มีประโยชน์สำหรับมือใหม่ไปตรวจแมมโมแกรมซึ่งเป็นสิ่งที่คุณควรทำในเดือนตุลาคมนี้
ความเชื่อเรื่องแมมโมแกรม… เรามีคำตอบ:
ก่อนแมมโมแกรมครั้งแรก คุณก็คงต้องสงสัยว่ามันคืออะไรทำยังไงใช่ไหมคะ แมมโมแกรม พูดง่ายๆก็คือการเอ็กซเรย์เต้านมด้วยรังสีชนิดพิเศษ เพื่อตรวจดูเนื้อเยื่อเต้านมหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าเป็นมะเร็งหรือเรื่องอื่นๆเช่น หินปูนที่มีลักษณะผิดปกติ หรือรอยโรคใดๆที่มีขนาดเล็กก็ตาม แต่เพราะส่วนมากเราจะใช้แมมโมแกรมเพื่อตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยทำให้ผู้หญิงเรารู้สึกกลัวและไม่ไปตรวจแมมโมแกรมกันด้วย 3 เหตุผลก็คือ
– เชื่อว่ารังสีเอ็กซเรย์จากแมมโมแกรมเสี่ยงกับการเกิดมะเร็งเต้านม: เรื่องนี้ต้องบอกว่ารังสีเอ็กซเรย์ที่ใช้ตรวจแมมโมแกรมนั้นเป็นรังสีที่มีความเข้มข้นต่ำมาก เรียกได้ว่าต่ำกว่ารังสีที่ใช้ในการเอ็กซเรย์ปอดด้วยซ้ำไป ดังนั้น มันจึงเป็นไปได้ยากมากที่แมมโมแกรมจะเป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านม
– กลัวว่าถ้าไปตรวจแล้วจะพบว่าตัวเองเป็นโรคนี้:จากข้อมูลสถิติของสถาบันมะเร็งในหลายๆประเทศระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ตัวเลขข้อมูลในจำนวนผู้ที่มาตรวจแมมโมแกรมจำนวน 1,000 คน จะมีเพียง 2 หรือ 3 คนเท่านั้นที่ถูกพบว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านมแล้วแบบนี้คุณจะกลัวอยู่ทำไม
– กลัวความเจ็บที่จะเกิดขึ้นจากการตรวจ: เป็นอีกเรื่องที่คนส่วนใหญ่มักคิดกัน ซึ่งความเจ็บจากการตรวจแมมโมแกรม ไมมีอะไรผิดปกติไปจากความเจ็บอื่นๆที่เกิดจากกระบวนการตรวจรักษาทางการแพทย์ เช่นที่คุณไปฉีดยาหรือเจาะเลือดตรวจสุขภาพเลยแค่ที่สำคัญคือแมมโมแกรมจะเป็นกุญแจสำคัญทำให้สามารถดักจับมะเร็งเต้านมที่ซ่อนอยู่ไม่ให้ลุกลาม ทั้งสามารถรักษาให้หายขาดได้ถ้าพบแต่เนิ่นๆดังนั้น ถามว่าจะยอมเจ็บจากแมมโมแกรมหรือจะยอมตายจากมะเร็งเต้านมที่เป็นแล้วรักษาไม่ทัน ดิฉันว่าเราน่าจะได้พบคำตอบแล้ว
ทีนี้พอคิดจะไปตรวจก็พบว่าแต่ละองค์กรก็มีคำแนะนำเรื่องอายุที่ควรไปตรวจแตกต่างกันไป ทำให้เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าจะเริ่มแมมโมแกรมครั้งแรกอายุเท่าไหร่ดี โดยปกติผู้หญิงควรตรวจแมมโมแกรมครั้งแรกเมื่ออายุ 40 ปี แต่อาจก่อนหรือหลังนี้ขึ้นกับไลฟสไตล์ความเสี่ยงของแต่ละคน เช่น การสูบบุหรี่, ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ใช้ชีวิตในสภาวะแวดล้อมที่มีมลภาวะ, การมีประวัติของยีนที่ผิดปกติ ( Gene mutation) ซึ่งกรณ๊นี้ควรตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไปฯลฯ ซึ่งหากใครมีไลฟสไตล์อย่างที่ว่านี้ ก็ควรจะเริ่มแมมโมแกรมให้เร็วขึ้นก่อนอายุ 40 ปี
มีคำแนะนำจากรังสีแพทย์ถึงสิ่งที่คุณควรทำก่อนไปตรวจแมมโมแกรม ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณไปตรวจแมมโมแกรมอย่างสะดวกสบายมากขึ้นและก็ยังทำให้สามารถอ่านผลของแมมโมแกรมได้แม่นยำขึ้นด้วย
1. ไม่ควรทายาระงับกลิ่นตัว แป้งฝุ่น หรือโลชั่นใดๆบริเวณเต้านมและรักแร้: สารอลูมิเนียมในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นตัวและคราบโลชั่นกับผงแป้งจะรบกวนผลของแมมโมแกรมเพราะมันจะไปปรากฎชัดเป็นจุดขาวๆอยู่บนฟิล์มเอ็กซเรย์ ซึ่งทำให้วินิจฉัยสับสนเพราะมันดูคล้ายกับจุดขาวของเซลล์ที่เป็นเซลล์มะเร็ง และถึงแม้คุณจะไม่ได้ทาผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นตัวที่เต้านมของคุณก็ตาม แต่การทำแมมโมแกรมจะถ่ายภาพจากส่วนใต้รักแร้ด้วยดังนั้น ผลิตภัณฑ์ใดๆที่ถูกทาลงบนผิวที่ใกล้เคียง ก็จะไปมีผลกับภาพถ่ายแมมโมแกรมทั้งสิ้นจึงควรเช็ดออกให้เรียบร้อยก่อนไปรับการตรวจ
2. สวมชุดแบบ 2 ชิ้นท่อนบนท่อนล่างในวันไปตรวจ: ชุดแบบนี้จะทำให้คุณผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้ารับการตรวจได้สะดวกกว่าเพราะจะถอดเฉพาะเสื้อท่อนบน ไม่ต้องถอดทั้งตัวแบบชุดเดรสติดกันทั้งยังใช้เวลาสั้นกว่าด้วย
3. นัดตรวจแมมโมแกรมหลังมีประจำเดือน: ในช่วงที่มีประจำเดือนเต้านมจะมีความอ่อนไหวทำให้เกิดความเจ็บได้มากกว่าปกติ เพราะการตรวจแมมโมแกรมจะต้องวางเต้านมลงบนจานแผ่นราบ2 แผ่นและบีบอัดเพื่อถ่ายภาพเนื้อทุกส่วนของเต้านมได้ชัดเจนจึงควรนัดตรวจเป็นช่วง1 สัปดาห์หลังจากหมดช่วงประจำเดือนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเข้าสู่ระดับคงที่
4. เลือกศูนย์ตรวจที่ใช้เครื่องมือทันสมัยและมีมาตรฐานรับรอง: โรงพยาบาลหรือศูนย์การแพทย์ที่ทันสมัยจะมีการรับรองมาตรฐานของเครื่องมือ จึงวินิจฉัยได้แม่นยำกว่า เจ็บน้อยกว่า และใช้เวลาในการตรวจน้อยกว่าด้วยนอกจากนี้ก็จะมีเจ้าหน้าที่และแพทย์ที่ตรวจและอ่านผลการถ่ายภาพเต้านมตลอดทั้งวัน ซึ่งจะมีประสบการณ์มากกว่าและเห็นเคสที่หลากหลายกว่า ซึ่งหมายถึงคุณจะได้รับการอ่านผลที่ดีกว่าด้วย
5. บริโภคยาแก้ปวดก่อนทำแมมโมแกรม: การทำแมมโมแกรมต้องมีการบีบอัดเต้านม อาจทำให้คุณเกิดความเจ็บขึ้นได้ซึ่งบางคนแก้ปัญหานี้ด้วยการบริโภคยาแก้ปวดทั่วไปซึ่งก็อาจช่วยลดปัญหาลงได้บ้าง
6. เรียนรู้ประวัติครอบครัวของคุณเอง: แพทย์อาจถามคุณถึงประวัติครอบครัวเกี่ยวกับการเป็นมะเร็งเต้านม เพราะสิ่งนี้ก็เป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงของคุณได้อย่างหนึ่ง และถึงแม้ว่าประวัติครอบครัวของคุณ จะไม่เคยมีใครเป็นโรคนี้ก็ตาม แต่ก็มีผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นมะเร็งเต้านม ทั้งๆที่ประวัติครอบครัวไม่เคยมีใครเป็นโรคนี้มาก่อน ซึ่งแพทย์ก็จะมุ่งไปที่พฤติกรรมไลฟสไตล์ประจำวันเช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีน้ำหนักตัวมากเกินไป
7. ตอบรับนัดทำแมมโมแกรมให้เร็วที่สุด: โดยปกติการทำแมมโมแกรมจะใช้เวลาค่อนข้างเร็วคือราวๆ 15-30 นาทีต่อ 1 คนขั้นตอนคือเมื่อคุณเช็คอินแล้ว คุณก็จะถูกนำไปที่ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อเปลี่ยนชุดท่อนบนเตรียมตัวสำหรับถ่ายภาพเต้านมซึ่งนักเทคนิคจะถ่ายภาพเต้านมทั้งหมด 4 ภาพด้วยกันคือภาพเต้านมที่ถูกบีบอัดจากด้านบนลงล่างแต่ละข้างๆละหนึ่งภาพ และภาพเต้านมที่ถูกบีบอัดจากด้านข้างของเต้านมแต่ละข้างๆละหนึ่งภาพ การถ่ายภาพจะใช้ระบบภาพดิจิตอล ภาพทั้งหมดจะปรากฎบนหน้าจอหากภาพไม่ชัดเจนก็จะถ่ายใหม่ซ้ำๆจนกว่าจะพอใจ หลังจากถ่ายภาพแล้ว คุณก็สามารถกลับบ้านได้โดยปกติแล้ว รังสีแพทย์จะอ่านผลแมมโมแกรมของคุณหลังจากนั้นหรือสองสามวันต่อมาแต่ถ้าถ่ายถาพออกมาแล้วเห็นชัดเจนว่ามีความผิดปกติเช่นมีก้อนบวมหรือมีสารคัดหลั่งใดๆออกมาจากเต้านม รังสีแพทย์ก็จะอ่านผลภาพนั้นๆทันทีและนัดหมายให้คุณมาพบในครั้งต่อไป
8. หลังจากการตรวจจะมีจดหมายหรืออีเมล์แจ้งผล: ซึ่งเมล์ที่ส่งให้คุณจะใช้คำพูดที่เข้าใจง่ายไม่ใช้ศัพท์ทางการแพทย์ซับซ้อน บอกขั้นตอนต่อไปที่คุณควรปฏิบัติถ้าผลการตรวจของคุณไม่มีปัญหาเมล์ก็จะแนะนำว่าคุณควรมารับการตรวจอีกครั้งเมื่อไหร่แต่ถ้าพบว่ามีความผิดปกติใดๆแพทย์ก็จะเรียกให้คุณกลับมาในอีกสองสามวันเพื่อถ่ายภาพเต้านมอีกครั้ง หรือเพื่อแนะนำขั้นตอนปฏิบัติที่คุณควรทำระหว่างแมมโมแกรมครั้งต่อไป
9. ในกรณีที่เสริมเต้านม ก็ทำแมมโมแกรมได้และควรทำด้วย: จุดประสงค์ของการตรวจแมมโมแกรมในผู้ที่เสริมเต้านม จะทำเพื่อสองอย่างด้วยกันคืออย่างแรก แมมโมแกรมสามารถตรวจความสมบูรณ์ของเต้านมที่เสริมไปแล้วจากภาพถ่ายที่ได้และอย่างที่สองคือตรวจหามะเร็งเต้านมได้อีกด้วยนั่นคือหลังจากที่ดูเรื่องการเสริมเต้านมแล้วก็จะดูสภาพของเนื้อเยื่อเต้านมโดยรวมในบริเวณรอบๆเต้าที่ผ่านการเสริมไปนั้นซึ่งสำหรับผู้ที่เสริมเต้านม คุณก็จะต้องถ่ายภาพเต้านมมากกว่า 4 ภาพที่ผู้หญิงเต้านมปกติถ่ายกัน แต่แมมโมแกรมก็เป็นวิธีสร้างความมั่นใจให้คุณว่าเต้านมที่ผ่านการเสริมมาแล้วมีสภาพปกติดีและปลอดภัยจากโรคร้ายนี้แน่นอน
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เห็นหรือยังคะว่า แมมโมแกรมไม่เพียงแต่จะช่วยพาคุณไปสู่ความมั่นใจว่าปลอดภัยจากโรคมะเร็งเต้านมอย่างแน่นอนเท่านั้นแต่มันยังช่วย “ดักจับ” มะเร็งเต้านมไว้ให้สามารถรักษาได้ในระยะเนิ่นๆอีกด้วยการทำแมมโมแกรม จะทำความสงบให้จิตใจคุณในระยะยาว อย่ากลัวความเจ็บปวดในระยะสั้นๆของการตรวจ จนยอมพาตัวเองไปสู่ระยะของโรครายที่เยียวยาได้ยากขึ้น กรณีหลังนี้ต่างหากที่จะนำความกังวลมาให้คุณยาวนานกว่า
ไม่มีใครดูแลสุขภาพของคุณได้ดีเท่าตัวคุณเอง โดยเฉพาะสุขภาพของเต้านมซึ่งเป็นอวัยวะบ่งบอกความเป็นเพศหญิง มาดูแลสุขภาพเต้านมให้มีสุขภาพดีตลอดไปกันค่ะ
Copy right © 2016 The Editors. All right reserved.
For Advertising Contact
086-3260374
, 081-7856188