By Pusit Sansopone
เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 32
‘พระราชวังแวร์ซาย’ (ต่อ)
ชีวิตในแวร์ซาย (Life in the court)
ในตอนนี้เราจะคุยถึงเรื่องราวและข้อเท็จจริงของการใชัชีวิตในพระราชวัง Versailles ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น แต่อย่าลืมว่าในสมัยนั้นพระเจ้าหลุยส์ได้เชิญบรรดาขุนนาง, ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่, รัฐมนตรีของหลายกระทรวงตลอดจนข้าราชบริพารที่มีระดับมาอยู่ที่แวร์ซายทั้งหมด โดยจัดที่พักและอาหารให้ตามเหมาะสม พระเจ้าหลุยส์ทรงตกแต่งประดับประดาพระราชวังแบบหรูหราไม่มีขุนนางคนไหนทำได้เทียบเท่า และจัดให้มีงานอีเว้นท์ต่างๆ เพื่อไม่ให้การมาอยู่ที่แวร์ซายนั้นน่าเบื่อ คือสำหรับบรรดาขุนนางและข้าราชการแล้วการมาอยู่ที่นี่นั้นนอกจากจะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินแบบใกล้ชิดเพื่อความรุ่งเรืองทางการงานแล้วก็ยังได้ใช้ชีวิตแบบหรูหราพบปะแวดวงสังคมชั้นสูงอีกด้วย
แต่ชีวิตจริงๆนั้นเป็นอย่างไร มันเป็นชีวิตในฝัน(Dream Lifestyle) หรือเป็นชีวิตที่เจอในฝันร้าย(Nightmare) มีเรื่องราวจากหนังสารคดีที่ชื่อ Versailles’dirty secrets และ website thisisversaillesmadame.blogspot.com (credit pics and story) ที่มีเรื่องราวน่าสนใจมาแชร์เรื่องการใช้ชีวิตที่นั่น
ก่อนอื่นเราต้องมาสรุปวัตถุประสงค์ ตรรกะที่มาของการสร้างพระราชวังแวร์ซาย อีกครั้งก่อนที่จะมาทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตประจำวันในแวร์ซายว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้น
1. เรื่องความผูกพันกับอดีตในวัยเยาว์ เพราะที่นี่มีประวัติความเป็นมาจากการเป็นเสมือนบ้านในชนบทของพระบิดาคือกษัตริย์หลุยส์13 มีสภาพแวดล้อมที่น่ารื่นรมย์และเพลิดเพลิน และท่านเองได้ติดตามพระบิดามาล่าสัตว์ที่นี่ มีข้าราชบริพารติดตามมากมาย ทำให้เกิดบรรยากาศที่รู้สึกหลงใหลในอำนาจของการเป็นกษัตริย์ตั้งแต่ตอนนั้น
2. เรื่องแรงบันดาลใจที่ต้องทำให้แวร์ซายยิ่งใหญ่เหนือใคร เมื่อพระชนมายุได้ยี่สิบสามปีในขณะที่เกิดความคิดสนใจในการบูรณะแวร์ซาย ก็มาเกิดแรงบันดาลใจให้มีความตั้งใจแน่วแน่ก็ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1661 เมื่อนิโคลัส ฟูเกต์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของฝรั่งเศส(เรื่องราวอยู่ในตอนที่แล้ว)ได้สร้างคฤหาสน์ชื่อดังแห่งยุคชื่อว่า “Vaux-le-Vicomte” และได้เชิญพระเจ้าหลุยส์ไปร่วมงานฉลองคฤหาสน์ใหม่ได้เสมือนทำให้พระเจ้าหลุยส์เกิดการอิจฉาเลยทีเดียว เพราะคฤหาสน์ของ Fouquet มีการตกแต่งสะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมในแบบ Grand Design ยิ่งใหญ่โอ่อ่าในแบบฝรั่งเศสเป็นshowcaseของเจ้าของอย่างแท้จริง ทำให้ท่านคิดว่าVersaillesควรต้องเป็นshowcaseของฝรั่งเศสและต้องยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรป แขกบ้านแขกเมืองมาต้องทึ่งในความยิ่งใหญ่แบบเดียวกับใครที่ได้มาเห็น”Vaux-le-Vicomte”
ภาพที่สร้างขึ้นจำลองเหตุการณ์วันที่ 17 สิงหาคม ปี 1661 วันที่นิโคลัส ฟูเกต์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของฝรั่งเศสได้เชิญพระเจ้าหลุย์ไปร่วมงานฉลองคฤหาสน์ใหม่ “Vaux-le-Vicomte”
คฤหาสน์ที่ยิ่งใหญ่ต้นแบบของแวร์ซายมองจากมุมสูง
แน่นอนว่าสำหรับ Fouquet นั้นก็กลายเป็นแค่คนโง่คนหนึ่งที่พยายามอวดตัวก้าวล้ำหน้ากษัตริย์ด้วยความโอ่อ่าหรูหราจึงถูกกล่าวหาใส่ความว่าโกงเงินพระคลังหลวงที่ตนเองเป็นผู้คุมอยู่ และสามสัปดาห์หลังจากงานเลี้ยงต้อนรับของคฤหาสน์ตัวเอง กษัตริย์หลุยส์ก็สั่งจับกุม Fouquet และถือเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่ประมุขแห่งรัฐแทรกแซงการตัดสินใจของศาลโดยเพิ่มการลงโทษจากการจำคุกธรรมดาเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตในป้อม Pinerolo แต่การจับกุม Fouquet ถือเป็นตัวอย่างราชาธิปไตยในยุคของกษัตริย์หลุยส์ที่แสดงให้ผู้ต่อต้านท่านรับรู้ว่ากษัตริย์คือผู้มีอำนาจสูงที่สุดในแผ่นดิน
3. เรื่องความปลอดภัย และเรื่องการเมือง การลดทอนอำนาจขุนนาง วัตถุประสงค์สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับการบูรณะแวร์ซายส์ของพระเจ้าหลุยส์ที่14 คือการลดทอนอำนาจขุนนางและชนชั้นสูงให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์ เนื่องจากพระเจ้าหลุยส์ยังคงบอบช้ำจากเหตุการณ์กบฏ Fronde ที่มีสาเหตุมาจากฝ่ายต่อต้านกษัตริย์ มีเหตุการณ์ขุนนางรับเงินจากนายทุนให้ขัดคำสั่งกษัตริย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แม้แต่ข้าศึกอย่างพวกชาวดัตช์ก็แทรกแซงผ่านขุนนางเหล่านี้ ทำให้ขุนนางเริ่มมีอำนาจมาก ทำให้เกิดความไม่มั่นคง เนื่องจากท่านขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์มากและพระมารดาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนจึงมีฝ่ายที่พยายามจะโค่นล้มท่านอยู่ตลอดเวลา
สัญลักษณ์ของพระเจ้าหลุยส์ที่14 ที่เป็นรูปดวงอาทิตย์ตามฉายา The Sun King หรือ สุริยะราชา
ดังนั้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1682 พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ได้ประกาศย้ายที่ทำการรัฐและพระราชวังมาที่ “Chateau of Versailles” ซึ่งการย้ายถิ่นฐานไปแวร์ซายหมายถึงการไปสร้างกรงทองให้ข้าราชบริพารที่นั่น ท่านจะได้อยู่ใกล้ชิดและมองเห็นพฤติกรรมขุนนางที่ทำตัวเป็นปรปักษ์กับท่าน และเพื่อให้ขุนนางมาทำหน้าที่เป็นผู้ติดตามรับใช้ มากกว่าเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนหรือเก็บภาษีที่ดินแบบเดิม ขุนนางถูกบังคับด้วยอำนาจของกษัตริย์ที่จะให้เข้าเฝ้ายืนดูพระเจ้าหลุยส์แต่งตัวหรือทรงเสวยหรือทรงกิจกรรมอื่นๆและขุนนางแต่ละคนจะต้องคอยเสนอหน้าและทำตัวให้เป็นทีไว้วางใจเพื่อจะได้บำเหน็จและรางวัลจากกษัตริย์ ทำให้พระเจ้าหลุยส์ทรงมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับขุนนางที่พระองค์ไม่โปรดก็จะถูกสั่งลดรายได้เพราะทุกอย่างที่แวร์ซายมีให้ครบแล้ว จึงเกิดระบบที่ต้องพึ่งพากษัตริย์แห่งพระอาทิตย์พระองค์นี้และราวกับว่าบริวารหรือทุกอย่างหมุนรอบตัวพระองค์อย่างแท้จริง ที่มาของฉายา the Sun-King หรือ สุริยะราชา ด้วยเหตุนี้จึงมีสมาชิกของชนชั้นสูงจำนวนกว่า 5,000 คนที่อาศัยอยู่ในแวร์ซายและรอบๆ มาปรากฏตัวทุกวันที่แวร์ซายเพื่อเข้าเฝ้าติดตามตั้งแต่พระองค์ตื่นขึ้นมาและดำเนินไปตามราชพิธีต่างๆของแต่ละวัน
ชีวิตในแต่ละวันที่แวร์ซาย
แน่นอนว่าชีวิตในแต่ละวันที่แวร์ซายนั้นจะขึ้นอยู่กับตารางเวลาของพระเจ้าหลุยส์เป็นสำคัญ ได้มีบันทึก(Memoirs) ของดยุคแห่งแซงซิมง (Duc de Saint-Simon) ข้าราชการในสมัยของพระองค์ได้เขียนถึงตารางเวลาประจำวันของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไว้แบบนี้
โดยหลักการตารางเวลาที่เคร่งครัดนั้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ในราชการของพระองค์สามารถวางแผนงานของตัวเองได้ แม้ว่าอยู่ไกลออกไปแค่ไหนก็จะรู้ว่าเวลานี้นาทีนี้พระองค์ทรงทำอะไรอยู่ จะต้องวางแผนเข้าเฝ้าตอนไหนอย่างไร
ตอนเช้า
รูปปั้นตามแนวคิดของศิลปิน (Artist impression)ที่จำลองพิธี The King’s Levée
8.30 น. จะมีพิธีที่เรียกว่าพิธีการตื่นนอนของกษัตริย์หรือ “the rising of the king ceremony” หรือ The King’s Levée เป็นพิธีที่จัดขึ้นทุกครั้งที่พระมหากษัตริย์หรือพระราชินีตื่นขึ้นมา เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่14 ปกครองฝรั่งเศสท่านมีพิธีสองแบบคือ grand levéeและ petit levée
grand levee จะเป็นหนึ่งในพิธีที่เคร่งครัดที่เปิดโอกาสให้ข้าราชบริพารทั้งหมดใน Court ที่เรียกว่า Courtier มาเข้าเฝ้าทักทายและชื่นชมบารมีของพระราชาตั้งแต่ที่พระองค์ตื่นขึ้นมา เปรียบเสมือนการมาชื่นชมแสงอาทิตย์ยามเช้าที่โผล่มาจากขอบฟ้า
ภาพของ Nurse Maid ต้นห้องบรรทมของพระเจ้าหลุยส์ที่14ซึ่งเคยทำหน้าที่เลี้ยงดูท่านตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์
พิธีเริ่มขึ้นตอน8.30 น.จะมีการปลุกพระองค์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของต้นห้องหรือ Chambre Valet ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่ง Nurse Maid ของพระองค์ซึ่งเคยทำหน้าที่เลี้ยงดูท่านตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์เหมือนเป็น “แม่นม”ของท่านจะทำหน้าที่ปลุกท่านเอง จากนั้นจะมีการตรวจสุขภาพโดยหมอและศัลยแพทย์ ซึ่งรวมถึงการตรวจสิ่งที่พระองค์ขับถ่ายออกมาตรงนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของพิธีการประจำวันขึ้น จากนั้นจะมีขบวนผู้เข้าเฝ้าชุดแรกที่เรียกว่า Grand Entrée เริ่มขึ้นโดย Grand Chamberlain ซึ่งก็คือตำแหน่งอาวุโสของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งและเป็นที่ไว้วางใจสูงสุดของกษัตริย์ให้จัดการระเบียบพิธีต่างๆภายในพระราชวังเปรียบเสมือน’พ่อบ้าน’นั่นเอง ซึ่งเป็นผู้นำขบวนราชบริพาร Courtier ตามยศและชั้นที่มีสิทธิเข้ามา(ซึ่งตามเกร็ดประวัติศาสตร์บอกว่าสิทธินี้สามารถซื้อขายได้) ณ ตอนนี้ พระราชายังคงประทับอยู่บนเตียงสวมเสื้อชุดนอนและวิกผม หลังจากที่มีการให้ท่านล้างหน้าล้างมือด้วยน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์แล้วต้นห้อง Chambre Valet ของห้องนอนและคนรับใช้อาวุโสจะดึงเสื้อของพระราชา คนละแขนออกแล้ว ท่านแกรนด์แชมเบอร์เลนก็เป็นผู้หยิบเสื้อตัวใหม่สำหรับวันนี้ให้พระองค์ และข้าราชบริพารชุดแรกก็จะกล่าวอวยพรท่านพร้อมกันก่อนถูกเชิญให้ไปรออยู่ในห้องถัดไป
ภาพวาดจำลองเหตุการณ์ในพิธี The King’s Levée จะสังเกตได้ว่ามีเตียงที่บรรทมอยู่ฉากหลัง
จากนั้นก็ถึงเวลาสำหรับ Première Entrée สำหรับข้าราชบริพารที่มีฐานะและสิทธิน้อยกว่าซึ่งสามารถเข้ามาในช่วงเวลาที่กษัตริย์จะแต่งตัวซึ่งพระเจ้า หลุยส์ที่14 มักชอบที่จะจัดการเอง ดังนั้นหลังการได้รับมอบชุดแต่งกายแล้วกระจกถูกจัดขึ้นสำหรับการโกนหนวดหวีผมที่โต๊ะ จากนั้นข้าราชบริพารที่เหลือก็สามารถเข้ามาได้ ก็จะถึงช่วงที่พระองค์ทรงถุงน่องและรองเท้า
ภาพจำลองเหตุการณ์ช่วงที่มีแพทย์และศัลยแพทย์ตรวจเช็คสุขภาพของพระเจ้าหลุยส์
ซึ่งตอนนั้นห้องจะแออัดมากจากนั้นพระองค์ก็จะสวดภาวนาที่ข้างเตียงในขณะที่เจ้าหน้าที่ต้นห้องเก็บเสื้อผ้าจัดที่นอนแล้วพระองค์ก็จะออกไปที่ห้องติดกันที่ข้าราชบริพารรออยู่แล้ว เพื่อเสวยน้ำซุปและอาหารเช้า ร่วมโต๊ะกับสมาชิกที่สำคัญที่สุดและข้าราชการผู้ใหญ่ผู้รับใช้ของพระราชวงศ์ที่ได้รับอนุญาตให้เฝ้า ก่อนเดินไปห้องถัดไปที่ข้าราชบริพารที่ไม่ได้ร่วมเสวยรออยู่เพื่อที่ท่านจะประกาศว่าท่านอยากจะทำอะไรในวันนั้น
สำหรับพิธี petit levee เป็นพิธีขนาดย่อ คือแค่ให้ข้าราชบริพารที่มีสิทธิเท่านั้นที่สามารถชมการปลุกพระราชาและการแต่งตัวของพระองค์ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่กษัตริย์จริงๆแล้วอาจทรงตื่นขึ้นมาก่อนหลายชั่วโมงเพื่อออกไปล่าสัตว์ แล้วทรงกลับมาที่เตียงเพื่อรับพิธีเลฟเว่ แบบย่อนี้ ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธีทั้งหมดมักเป็นเพศชายประมาณ 100 คน
จะสังเกตว่าห้องบรรทมของพระเจ้าหลุยส์จะไม่เป็นส่วนตัว และมีรั้วเตี้ยๆกั้นไว้ระหว่างส่วนที่เป็นเตียงและส่วนที่เป็นแกลเลอรี่ สำหรับเป็นบริเวณที่ข้าราชบริพารจะต้องมาเป็นสักขีพยานให้พระราชาเมื่อทรงลุกจากเตียงทุกเช้า
สำหรับพิธีการต่างๆ ในช่วงที่เหลือของวันจะเป็นอย่างไรโปรดติดตามได้ในการ update คราวหน้าครับ
Copy right © 2016 The Editors. All right reserved.
For Advertising Contact
086-3260374
, 081-7856188