By Pusit Sansopone
เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 29
‘พระราชวังแวร์ซาย’ ตอนที่ 1
หลังจากคุยกันถึงเรื่องอาหารการกินกันไปหลายตอนแล้ว ตอนนี้ก็เลยต้องขอกลับมาพาเที่ยวกันต่อครับซึ่งตามที่ผมเคยเกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ ก็คือถ้ามาปารีสทั้งทีจะเที่ยวให้คุ้มค่าก็ต้องมี 3 แห่ง 3 แบบนี้ครับ คือทัวร์วัด, ทัวร์วัง และทัวร์พิพิธภัณฑ์ สถานที่อื่นๆที่เหลือแค่ไปโฉบถ่ายรูปหรือselfie ก็พอได้ครับ ไม่เสียเวลามาก ผมพาไปทัวร์วัดคือวิหารโนตเทรอะดาม และทัวร์พิพิธภัณฑ์มาแล้ว ขาดแต่ทัวร์วัง ซึ่งก็คือเรื่องที่จะแนะนำในวันนี้ครับ ‘พระราชวังแวร์ซาย’ โดยวันนี้เราจะพูดถึงที่มาของพระราชวังแวร์ซายและเรื่องราวของยุคสมัยนั้น เนื่องจากยุคสมัยนั้นประเทศไทยเราก็เริ่มมีความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ก็เลยถือโอกาสกล่าวถึงเรื่องราวที่มาของความสัมพันธ์ดังกล่าวเล็กน้อยด้วย
ในขณะที่ในเมืองไทยมีความตื่นตัวเรื่องประวัติศาสตร์เพราะความดังของละครทีวีหรือซีรี่ส์ของไทยเรื่อง บุพเพสันนิวาส ซึ่งผู้เขียนบทได้อ้างอิงถึง ยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งถือเป็นbackground หรือฉากหลังของละครนั้น ในยุโรปและอเมริกาก็ได้ให้ความสนใจกับภาพยนตร์ซีรี่ส์อิงประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเรื่องว่า Versailles แวร์ซาย (ซึ่งเพิ่งจะออกอากาศ season 3 ไปในเดือนเมษาที่ผ่านมา) กันพอสมควรทีเดียวและซีรี่ส์เรื่องนี้ก็อ้างอิงถึงยุคสมัยของ The Sun King สุริยกษัตริย์ของฝรั่งเศส ซึ่งก็คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นั่นเอง โดยมีพระราชวังแวร์ซายเป็นbackground หรือฉากหลังของละคร
ที่น่าสนใจก็คือซีรี่ส์ทั้งสองนั้นมีช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน (Overlap) และมีเรื่องราวหลายอย่างที่คล้ายกันอยู่ในมิติของประวัติศาสตร์ (fact)ที่ไม่เกี่ยวกับfiction หรือบทละครที่ปรุงแต่งเรื่องราว เช่น การย้อนยุคมาเกิดหรือ Time Travel แบบในซี่รี่ส์ของไทย เรามาดูกันว่าความเหมือนหรือความคล้ายที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง
1. ช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน
ไทย ยุครัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือในช่วงขึ้นครองราชย์ก็คือ พ.ศ. 2199-2231 (ค .ศ 1656 -1688) พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยทรงขึ้นครองราชย์ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2199 หรือตั้งแต่มีพระชนมายุได้ 25 พรรษา และทรงครองราชย์อยู่นานถึง 32 ปี
ฝรั่งเศส ในขณะที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV de France; หลุยส์กาโตร์ซเดอฟร็องส์, 5 กันยายน พ.ศ. 2181 – 1 กันยายน พ.ศ. 2258) หรือเรียกว่าหลุยส์มหาราช (Louis le Grand; หลุยส์ เลอ กร็อง) หรือ สุริยกษัตริยาธิราช (le Roi Soleil) เป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสและนาวาร์ ทรงครองราชย์เมื่อมีพระชนมายุได้เพียง 5 ชันษา เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 3 ของราชวงศ์บูร์บงแห่งราชวงศ์กาเปเตียง เสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2186 และทรงครองราชย์นานถึง 72 ปี นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในยุโรป
หากศึกษาจากวันประสูติของกษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์จะสังเกตได้ว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จะมีพระชนมายุน้อยกว่าสมเด็จพระนารายณ์ ประมาณ 7 ปี แต่ทรงขึ้นครองราชย์ก่อนถึง 13 ปี
2. ช่วงการเปลี่ยนย้ายที่ประทับสร้างเมืองหลวงใหม่
ซุ้มประตูทางเข้าวังพระนารายณ์ที่ลพบุรี
ไทย หลังจากประทับในกรุงศรีอยุธยาได้ 10 ปี สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2209 โดยพระองค์ท่านทรงเลือกพื้นที่ที่เคยเป็นอาณาจักรละโว้ เป็นอาณาจักรโบราณในมณฑลอำนาจแห่งหนึ่งในอดีต ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของลุ่มน้ำเจ้าพระยา สถาปนาขึ้นราวปลายยุคทวารวดี แรกเริ่มมีศูนย์การอำนาจอยู่ที่ลวปุระ(ปัจจุบันคือเมืองลพบุรี) ทำให้เมืองลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเมืองลพบุรีมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์เหมาะสม ซึ่งในการสร้างเมืองลพบุรีนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้รับความช่วยเหลือจากช่างชาวฝรั่งเศสและอิตาเลี่ยน ได้สร้างพระราชวังที่มีป้อมปราการเป็นแนวป้องกันอย่างมั่นคง ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ทรงโปรดประทับที่เมืองลพบุรี ตามหลักฐานปรากฏว่า พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี ปีละ 8-9 เดือน โปรดให้ทูตและชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าที่เมืองลพบุรีหลายครั้ง
ฝรั่งต่างชาติบันทึกว่า สมเด็จพระนารายณ์ประทับอยู่กรุงศรีอยุธยา รู้สึกอึดอัดไม่เป็นอิสระเช่นเดียวกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประทับอยู่ที่กรุงปารีส โปรดแวร์ซาย เพราะให้ความรู้สึกปลอดโปร่งกว่า สบายกว่า ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ก็โปรดเมืองลพบุรี (ละโว้) มากกว่า เพราะคลายความอึดอัด ความเครียด ดังบันทึกฝรั่งว่า
“…เพื่อเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังเมืองละโว้ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ห่างกรุงศรีอยุธยาไปทางเหนือประมาณสิบห้าหรือยี่สิบลิเออ และประทับที่เมืองนั้นเก้าหรือสิบเดือนในปีหนึ่งๆ ด้วยว่าเป็นเสรีดี ไม่ต้องทรงทนอุดอู้อยู่แต่ในพระบรมมหาราชวัง เช่นที่กรุงศรีอยุธยา…”
(credit: De La Loubere. A New Historical Relation of the Kingdom of Siam. Bangkok : White Lotus, 1980)
โบราณสถานที่เหลืออยู่ที่จังหวัดลพบุรีและข้างล่างคือแผนที่เมืองละโว้ที่ทำไว้โดยชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยนั้น
ฝรั่งเศส ในขณะที่ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส หลังจากทรงขึ้นครองบัลลังก์ได้ 8 ปี เมื่อ พ.ศ. 2204 ก็มีประสงค์ที่จะสร้างพระราชวังแห่งใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการปกครองของพระองค์ จึงเริ่มปรับปรุงพระตำหนักล่าสัตว์เดิมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ที่สร้างไว้ในปี พ.ศ. 2167 ในเมืองแวร์ซายย์ตั้งอยู่ห่างออกไปราว 15 กิโลเมตรทางตะวันตกของกรุงปารีส (ดูภาพพัฒนาการของแวร์ซายข้างล่าง)
ภาพทั้ง 2 ภาพด้านบน คือกระท่อมล่าสัตว์ก่อนดัดแปลงมาเป็นพระตำหนักในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 เสด็จพ่อของพระเจ้าหลุยส์ที่14 ซึ่งท่านได้ติดตามเสด็จพ่อของท่านมาล่าสัตว์ที่นี่ในช่วงก่อนอายุได้ 5 ชันษา จึงเกิดความประทับใจในบรรยากาศและทำเลของที่นี่
Versailles ในยุคปี พ.ศ 2211 (ค.ศ 1668) วาดโดย Pierre Patel ตอนนั้นเพิ่งจะขยายไปเพียงบางส่วนแต่พระเจ้าหลุยส์ก็เริ่มมาประทับที่นี่แล้วตอนนั้นมีพระชนมายุได้ 30 ชันษา
Palace of Versailles หลังจากที่มีการขยายเสร็จสมบูรณ์โดยพระเจ้า Louis XIV หลังจากปี 2231
โดยทรงสร้างต่อเติมเป็นพระราชวังแวร์ซาย ใช้เงินทั้งหมด 500,000,000 ฟรังก์ คนงาน 30,000 คน และใช้เวลาอยู่ถึง 30 ปีจึงแล้วเสร็จในพ.ศ. 2231 แต่พระองค์ก็ทรงมาประทับที่แวร์ซายตั้งแต่ก่อนพระราชวังจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ และประกาศให้แวร์ซายเป็นเมืองหลวงของฝรั่งเศส (จริงๆแล้วในอดีตถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงเลือกที่ประทับถาวรที่ใดเมืองนั้นก็กลายเป็นเมืองหลวงไปโดยปริยายเพราะศูนย์กลางของอำนาจทุกอย่างจะมารวมอยู่ที่นั่น)
แผนที่ของเมืองแวร์ซายโดยตัวพระราชวังจะอยู่ด้านเหนือสุด
3. ช่วงความวุ่นวายภายนอกและศึกสงคราม
ดูจากแผนที่ด้านบนจะเห็นแผนที่ในเอเชียแสดงให้เห็นประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก (มีสีของประเทศตามchart เช่น สีส้มคือฮอลันดา, เหลืองคืออังกฤษ และชมพูคือฝรั่งเศส) จะเห็นว่าประเทศไทยเป็นสีเทาคือสีที่บ่งบอกว่าไม่เคยเป็นอาณานิคมของใคร ซึ่งเราควรต้องภูมิใจและรำลึกถึงผู้ปกป้องอธิปไตยของเราในสมัยนั้นไว้
ไทย ในสมัยที่พระองค์ครองราชย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2199-2231 เป็นยุคที่มหาอำนาจตะวันตกแผ่อิทธิพลเข้ามา โดยเฉพาะฮอลันดา ซึ่งหลังจากยึดชวาหรืออินโดนีเซียได้แล้ว ก็คุกคามสยามและมีท่าทีที่ไม่น่าไว้วางใจ ชาวฮอลันดาหรือพวกดัตช์ได้กีดกันการเดินเรือค้าขายของไทย ครั้งหนึ่งถึงกับส่งเรือรบมาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา ขู่จะระดมยิงไทย จนไทยต้องผ่อนผันยอมทำสัญญายกประโยชน์การค้าให้ตามที่ต้องการ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงย้ายที่ประทับไปอยู่เมืองละโว้หรือลพบุรี ไว้เป็นเมืองหลวงสำรอง อยู่เหนือขึ้นไปจากกรุงศรีอยุธยาให้ห่างทะเลออกไปอีก และเตรียมสร้างป้อมปราการไว้คอยต่อต้านข้าศึก เพื่อความปลอดภัย
ฝรั่งเศส ไม่น่าเชื่อว่านอกจากฮอลันดาหรือพวกดัตช์จะเป็นปฎิปักษ์กับไทย และก็ยังเป็นศัตรูคู่อาฆาตกับฝรั่งเศสในช่วงเดียวกันอีกด้วย เหมือนว่าไทยกับฝรั่งเศสถูกกำหนดให้ต้องเป็นมิตรกันเฉพาะหน้าโดยปริยาย สำหรับเหตุการณ์บาดหมางระหว่างชาวดัตช์กับฝรั่งเศสนั้นมีการปะทะหรือรบกันหลายครั้งในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยเฉพาะช่วงที่คาบเกี่ยวกับสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ เช่น
ในปี 1665 กษัตริย์ฟิลิปที่ 4 แห่งสเปน (Philip IV of Spain) สวรรคตลง พระโอรสวัย 4 ชันษาซึ่งป่วยออดแอดได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์ชาร์ลที่ 2 (Charles II) พระเจ้าหลุยส์อ้างว่าตามกฎของแคว้นบราบ็อง (Brabant) (คาดว่าเป็นแคว้นในแถบสแปนิช เนเธอร์แลนด์ (Spanish Netherlands) นั้นให้สิทธิ์ของลูกคนแรกเป็นผู้ปกครองสืบต่อ พระมเหสีของพระเจ้าหลุยส์คือพระนางมารีเป็นลูกคนแรกของกษัตริย์ฟิลิปจึงควรได้รับแคว้นนี้เป็นมรดก จากนั้นพระองค์ก็ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการโจมตี สแปนนิช เนเธอร์แลนด์ (Spanish Netherlands) ของสเปน กองทัพฝรั่งเศสรุกคืบไปโดยที่สเปนไม่สามารถต้านทานได้ ส่วนพวกดัตช์ที่มีชายแดนติดกับสแปนนิชเนเธอร์แลนด์ก็กำลังมีปัญหาภายใน โดย โจฮาน เดอ วิต (Johan de Witt) ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดของสาธารณรัฐระแวงว่าวิลเลียมที่ 3 เจ้าชายแห่งออเรนจน์ (William III, Prince of Orange) จะมีอิทธิพลเหนือเขาและสร้างความยิ่งใหญ่ให้ราชวงศ์ออเรนจ์อีกครั้ง อีกทั้งยังมีสงครามกับอังกฤษอยู่ ทำให้การบุกสแปนิช เนเธอร์แลนด์ของฝรั่งเศสเป็นไปอย่างสะดวก แต่หลังจากนั้นดัตช์ก็เริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย จึงสงบศึกกับอังกฤษและตกลงเป็นพันธมิตรกัน และไปดึงสวีเดนมาเป็นพวก เรียกว่ากลุ่มสามพันธมิตร (Triple Alliance) ในปี 1668 ทำให้พระเจ้าหลุยส์ต้องพ่ายถอยไป
อีกครั้งหนึ่งในปี 1670 พระเจ้าหลุยส์ได้ส่งทองคำไปกำนัลแด่พระเจ้าชาล์ลที่ 2 แห่งอังกฤษเพื่อให้พระองค์ยุติการเป็นพันธมิตรกับดัตช์และหันมาร่วมมือกับพระองค์ อีกทั้งพระองค์ยังชักชวนให้บรรดารัฐในเยอรมันมาเข้าร่วมกับพระองค์ในการรบกับดัตช์ ในปี 1672 หลุยส์ก็ประกาศสงครามกับดัตช์ และบุกยึดดินแดนอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันที่ดัตช์ก็เกิดการรัฐประหารโค่นล้ม เดอ วิต ออกจากตำแหน่งสูงสุด และให้วิลเลียมแห่งออเรนจ์ขึ้นแทน สงครามก็ยังดำเนินต่อไป
ปี 1674 อังกฤษถอนตัวออกจากการรบ ส่วนพวกดัตช์ได้รับความช่วยเหลือจากสเปนและจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์ แต่ถึงแม้กระแสสงครามจะดูเหมือนจะเอนไปทางฝ่ายดัตช์ แต่กองทัพฝรั่งเศสกลับสามารถยึดแคว้นฟร็อง คอมเต้ (Franche-Comté) ของสเปนเอาไว้ได้ และยังบดขยี้ทัพผสมของจักรวรรดิ ดัตช์และสเปนที่มีจำนวนมากกว่าได้ในการรบที่เซเนฟ (Battle of Seneffe) ส่วนแนวรบกับจักรวรรดิ แม่ทัพทูแรน (Turenne) ก็เอาชนะกองทัพจักรวรรดิของแม่ทัพ ไรมอนโด มอนเตกูโกลิ (Raimondo Montecuccoli) ได้ และบีบให้ถอยกลับแม่น้ำไรน์และยึดแคว้นอัลซาสไว้ได้ ในปี 1678 กองทัพฝรั่งเศสก็ล้อมยึดเมืองเกนต์ (Ghent) เอาไว้ได้
เรื่องราวต่อไปโปรดติดตามได้ที่นี่นะครับ
Credit : วิกิพีเดีย, infothailand.eu, matichon.co.th,pantip.com
Copy right © 2016 The Editors. All right reserved.
For Advertising Contact
086-3260374
, 081-7856188