เคล็ดลับความสำเร็จของเชฟระดับโลก Thomas Bühner สามดาวมิชลิน และคะแนน GaultMillau 19 จาก 20
May 23rd, 2018
จับใจความจากงานเปิดตัวเชฟ ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท ในรอบผู้สื่อข่าว และจากที่ได้เจอเชฟกับผู้ช่วย (Head Chef) โดยบังเอิญ ในช่วงบ่ายก่อนงานแถลงข่าว จึงมีโอกาสได้พูดคุยกันแบบสบายๆก่อนใคร (เพราะเชฟไม่นึกว่าอายุขนาดนี้จะเป็นผู้สื่อข่าว ฮ่ะ ฮ่ะ!) เชฟเป็นคนสุภาพ ติดดิน และให้เกียรติผู้อื่น หลักๆ ที่อยากนำมาคุยเล่าสู่กันฟังคือ(เราคิดว่า)ความสำเร็จของเชฟนั้นมาจาก
1. ได้รับการแนะแนวที่ดี ในการเลือกสายอาชีพตั้งแต่อายุยังน้อย เชฟเล่าว่า เมื่ออายุประมาณ 13 ปี เรียนจบชั้นมัธยมปลาย ยังไม่ได้ต่อ High School ไม่รู้ว่าควรจะไปเรียนต่อทางไหนดี จึงไปทำการทดสอบที่เอเจนซี่ที่เกี่ยวกับการศึกษา ใช้เวลา 6 ชั่วโมง ได้คำตอบมาว่า อาชีพที่ควรทำในอนาคตคือเป็นเกษตรกร หรือ คนอบขนม หรือคนทำอาหาร เชฟเลือกอันสุดท้ายก็เพราะคิดว่า มันน่าจะลำบากน้อยกว่าสองอันแรก โดยให้สัญญากับพ่อแม่ที่ไม่เต็มใจจะให้ลูกเลือกเดินทางนี้เลยว่า อย่าห่วงเลย ถ้าฉันจะไปเป็นคนทำอาหาร ฉันก็จะเป็นคนทำอาหารที่ดีที่สุด นั่นคือเมื่อสัก 20-30 ปีมาแล้ว ฟังแล้วกลับมาย้อนคิดถึงบ้านเรา เราไม่มีการแนะแนวที่เป็นรูปธรรมแบบนี้ในระบบการศึกษาของบ้านเราเลย อีกทั้งพ่อแม่ชาวเอเชียเราก็ไม่ได้มีใจที่เปิดกว้างแบบนี้กันมากนัก หลายๆคนต้องเสียเวลาในชีวิตไปเรียนในวิชาที่ไม่ได้ชอบ ไม่ได้ถนัด สูญเสียศักยภาพ และพรสวรรค์ไปทำสิ่งที่ไม่มีใจรัก แล้วสุดท้ายก็เป็นได้แค่ฟันเฟืองตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งในระบบกระแสหลัก อีกอย่างที่น่าสังเกตตรงนี้คือความคิดที่ว่า ฉันจะเป็นอะไรก็ตาม แต่ฉันจะเป็นให้ดีที่สุด ในอาชีพนั้นๆ ทัศนคติเช่นนี้ พบได้มากในประเทศที่เจริญแล้วและค่อนข้างมีวินัยในตัวเอง เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน ถ้าเราสามารถปลูกฝังให้เด็กของเรารู้จักคิดแบบนี้ ไม่คิดเลือกงาน คงจะดีไม่น้อย
2. ทำในสิ่งที่รัก ข้อนี้สืบเนื่องมาจากข้อแรกเป็นข้อขยายว่า เมื่อคนเราได้ทำในสิ่งที่รักที่ถนัดย่อมจะทำได้ดี อันนี้อยากฝากถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง บางครั้งเราอยากให้ลูกประกอบอาชีพที่เราเห็นว่า ปลอดภัยทั้งทางกายภาพและทางการเงิน มีงานที่มีเกียรติ แต่บางครั้งก็ต้องยอมผ่อนปรน สังเกตดูความถนัดของลูกด้วย งานหลายๆอย่างในสมัยนี้ เป็นสิ่งใหม่ๆที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยของเรา การที่เราอนุญาตให้ลูกได้มีโอกาสคิดริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ในสิ่งที่เขารัก ให้กำลังใจเมื่อเขาท้อแท้ ย่อมจะทำให้เกิดผลสูงสุด ในอาชีพการงานของเขา
3. ให้เกียรติ และทำดีกับเพื่อนร่วมงาน เชฟย้ำแล้วย้ำอีกว่า เขาคงมาไม่ถึงจุดนี้ได้หากขาดทีมที่ดี เชฟเล่าว่าในสมัยก่อนเชฟรุ่นโบราณมักจะปฏิบัติต่อเด็กฝึกงานในร้านอาหารอย่างไม่ให้เกียรติ ดังนั้นเมื่อเขาได้มาเป็นเจ้าของร้านอาหาร เป็นเชฟใหญ่เองแล้ว เขาจึงตั้งใจว่าจะไม่ทำแบบคนรุ่นก่อนๆ เรื่องนี้เห็นด้วยเป็นอย่างมาก จากประสบการณ์ตรง มีหลายคนที่สมัยเรียนด้วยกันในโรงเรียนทำอาหาร ไม่ได้เป็นคนเก่งหรือท็อปของห้อง แต่เป็นคนมีน้ำใจ ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่กั๊ก ไม่วิ่งประจบครู ทำดีของเขาไปเรื่อยๆ แล้วเขาก็ก้าวหน้าไปได้ ไกลกว่าคนที่ได้คะแนนสูงๆ เห็นแก่ตัวเสียอีก งานอาชีพส่วนใหญ่ จำเป็นจะต้องอาศัยทีมที่ดี ดังนั้นอุปนิสัยใจคอที่แท้จริงจะปรากฎออกมาในระยะยาว คนที่มีคนชอบพอ ก็จะมีคนเต็มใจให้การช่วยเหลือสนับสนุน ให้ได้รับความสำเร็จในที่สุด
4. ควรมีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถนำเอาสิ่งต่างๆ รอบตัวมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์กับงานของตัวเอง อันนี้เชฟไม่ได้พูด แต่สังเกตเอาเอง ว่าคนจะประสบความสำเร็จได้นั้น ถามเชฟว่า อะไรคือแรงบันดาลใจของเชฟ เชฟตอบว่าทุกสิ่งรอบตัว เราต้องหัดสังเกต หัดใช้ความคิด และเรียนรู้เพิ่มประสบการณ์ให้มากขึ้นในทุกๆทาง เรื่องนี้มีตัวอย่างชัดๆ คือในช่วง Press Conference เชฟอธิบายถึงวิธีการทำอาหารแต่ละชนิดให้สื่อมวลชนฟังโดยละเอียด ปิดท้ายด้วยจานขนมหวาน เป็นรูปเป็ดรสเหมือนพุดดิ้งมะม่วง นั่งอยู่บนมะม่วงสดที่หั่นเต๋าเล็กอย่างสวยงาม มีเกล็ดน้ำแข็ง Granita ทำจากน้ำส้มและมีโฟมทำจากซอสส้มอยู่ข้างๆ เชฟได้ความคิดมาจากเป็ดยักษ์ลอยน้ำโดยศิลปินชาวดัชช์ ในอ่าวฮ่องกงในปี 2556 เชฟเล่าขำๆว่า เป็ดยักษ์ตัวนั้นเป็นที่ฮือฮา เป็นข่าวใหญ่ ผู้คนตื่นเต้น ดังนั้นพ่อค้าชาวจีนก็จะทำ ตัวเป็ดก็อปปี้ขายกันไปเกลื่อนทั่วบ้านทั่วเมือง เป็ดจานนี้ เราก็อปปี้ของก็อปปี้มาอีกทีนึง ^_^ เป็นจานอาหารที่แฝงไปด้วยอารมณ์ขัน และอร่อยมาก เชฟบอกว่า เมื่อคุณมีมะม่วงที่ดีที่สุดแบบนี้ ทางที่ดีที่สุด คือไม่ต้องไปทำอะไรกับมันเลย