“ท้องผูก” กับสาเหตุน่าตกใจที่คุณไม่เคยรู้
February 14th, 2018
ถ้าเราจะพูดถึงเรื่อง ”ท้องผูก” ที่คุณอาจมองเป็นเรื่องธรรมดาๆ แต่อาการนี้อาจมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพที่มากกว่านั้นก็ได้ โดยทั่วไป อาการท้องผูกของเรา จะเกิดจากการบริโภคอาหารไฟเบอร์ต่ำ, การไม่สนใจเมื่อร่างกายส่งสัญญาณเตือนให้ขับถ่าย,การดื่มน้ำไม่เพียงพอ, รวมทั้งเรื่องขาดการออกกำลังกาย ที่ทำให้ลำไส้ของเราไม่มีการเคลื่อนไหว นี่คืออาการธรรมดาๆ เพราะมันยังมีสาเหตุที่ซีเรียสกว่านี้อีกมากมายที่คุณอาจไม่เคยสังเกตว่ามันมีอยู่
1. โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism): เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานเฉื่อยชา มันก็จะไปชลอการเผาผลาญอาหารในร่างกายให้ช้าลง รวมทั้งการทำงานของลำไส้ของเราด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เป็นโรคนี้แล้วจะต้องท้องผูกนะคะ เหมือนกับที่อาการท้องผูกก็ไมได้แปลว่าคุณจะต้องมีปัญหาของต่อมไทรอยด์เสมอไปเช่นกัน แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ยังอายุน้อยแล้วท้องผูกมากกว่าปกติมานานแล้วละก็ ขอแนะนำให้ไปตรวจเช็คระดับการทำงานของต่อมไทรอยด์ดู เรื่องนี้เป็นคำแนะนำของ ดร. คาร์ลา เอช.กินสเบิร์ก คณะแพทยศาสตร์ มาหวิทาลัยฮาวาร์ด บอสตัน สหรัฐอเมริกา ที่บอกเอาไว้
2. บริโภคยาแก้ปวด: ยาแก้ปวดบางชนิด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีส่วนผสมของสารเสพติด จะทำให้เกิดท้องผูกได้ หลายคนที่บริโภคยาประเภทนี้แล้วจะมีผลข้างเคียงเรื่องระบบการย่อยอาหาร เพราะมันจะไปทำให้อวัยวะบางอย่างหยุดการทำงาน นอกจากนี้ มีรายงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า คนที่บริโภคยาแก้ปวดในกลุ่มแอสไพรินและไอบูโพรเฟนเป็นประจำ ก็อาจมีความเสี่ยงเรื่องท้องผูกนี้ได้เช่นกัน ซึ่งควรระวังไว้บ้าง
3. ชอคโกแล็ต: หลายคนคงร้อง “หือม์ เป็นไปได้ยังไง” แต่มันมีรายงานบางชิ้นระบุว่า เจ้าขนมหวานนี้อาจทำให้ท้องผูก แอย่าเพิ่งตกใจ เพราะก็มีรายงานอีกส่วนที่ระบุว่ามันอาจช่วยบางคนให้หายท้องผูกได้ด้วยเช่นกัน ตกลงเอายังไงแน่ เรื่องนี้คือในการวิจัยปี 2005 พบว่าคนที่ท้องผูกเรื้อรังหรือที่มีอาการลำไส้แปรปรวนของโรค IBS ( irritable bowel syndrome) จะเสี่ยงเรื่องนี้มากกว่าคนอื่นๆที่ไม่ได้มีปัญหา ดังนั้น หากคุณอยู่ในกลุ่มนี้ การงดหรือลดการบริโภคชอคโกแล็ตลงก็ดี ถ้าคิดว่ามันเป็นสาเหตุท้องผูกของคุณ
4. วิตามิน: โดยทั่วไปแล้ว วิตามินไม่ได้ทำให้ท้องผูก แต่ส่วนประกอบบางอย่างของมันเช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก อาจทำให้เกิดปัญหานี้ได้ ซึ่งแพทย์มักให้คนไข้หยุดบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารธาตุเหล็กหรือแคลเซียม ที่บริโภคประจำ ถ้าหากร่างกายเขาไม่ได้ต้องการมันจริงๆ
5. บริโภคยาระบายมากเกินไป: ยาระบายบางชนิดจะทำงานกระตุ้นความตื่นตัวของลำไส้ ซึ่งถ้าหากใช้ประจำ ก็จะนำร่างกายไปสู่ภาวะลำไส้ไม่ทำงานบีบตัวถ้าไม่มียามากระตุ้น ดังนั้น จึงไม่ควรบริโภคยาระบายเป็นเวลานานๆ
6. บริโภคผลิตภัณฑ์นมมากเกินไป: อาหารที่มีปริมาณชีสหรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นมในปริมาณสูง และอาหารไขมันสูงไฟเบอร์ต่ำ เช่นไข่และเนื้อสัตว์ สามารถชลอระบบการย่อยให้ช้าลงได้ ทางที่ดีก็คือ ให้ลดปริมาณอาหารกลุ่มนี้ลง และเพิ่มปริมาณไฟเบอร์ให้มากขึ้นกว่าเดิม 20 to 35 กรัมต่อวัน หรือผสมมันเข้ากับสลัดผักสดหรืออาหารอุดมด้วยไฟเบอร์
7. บริโภคยาต้านความหดหู่ ( Antidepressant): อาการท้องผูกสามารถเกิดขึ้นร่วมกับการบริโภคยากลุ่มนี้ ซึ่งมักมีปัญหากับผู้สูงวัยดังนั้น หากคุณหรือผู้ใหญ่ในบ้านกำลังบริโภคยาดังกล่าวและมีอาการท้องผูก ก็คืออาการข้างเคียงของมันซึ่งควรอบกแพทย์เพื่อให้แก้ไขโดยการสั่งยาเพื่อให้อุจจาระอ่อนตัวลงสามารถขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
8. ความหดหู่เศร้าหมอง: ในทางกลับกันกับข้อที่แล้ว คืออารมณ์หดหู่เศร้าหมอง ก็เป็นสาเหตุท้องผูกได้ ความรู้สึกนี้จะทำให้เกิดการชลอตัวของระบบการทำงานในร่างกาย ซึ่งมีผลกับลำไส้ด้วย ผู้ที่มีอาการโรคลำไส้แปรปรวนหรือ IBS มีความเกี่ยวเนื่องกับความรู้สึกหดหู่ ก็มีความเสี่ยงของท้องผูกได้เช่นกัน
9. ยาลดกรด: ยาลดกรดที่ทำให้แสบร้อนในกระเพาะอาหารบางชนิด สามารถทำให้เกิดท้องผูก โดยเฉพาะยาที่มีส่วนผสมของแคลเซียมหรืออลูมิเนียม
10. โรคความดันโลหิตหรือยาแก้แพ้บางชนิด: อาการท้องผูกเป็นผลข้างเคียงของการใช้ยาบางอย่างที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงและยาขับปัสสาวะ เนื่องจากยาขับปัสสาวะจะไปลดความดันหิตลง โดยเพิ่มการระบายออกทางปัสสาวะ ซึ่งเป็นการขับน้ำออกจากระบบร่างกาย และน้ำคือสิ่งที่ร่างกายใช้รักษาความนุ่มของอุจจาระให้ขับถ่ายได้ง่าย ส่วนยาแอนตี้ฮิสตามีนที่ใช้รักษาอาการแพ้ ก็สามารถเป็นปัญหานี้ได้เพราะมันทำให้ร่างกายเกิดความแห้ง
11. โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง: โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังหรือ IBD ( Inflammatory bowel disease) รวมทั้วโรคเรื้อรังของลำไส้ใหญ่หรือ CD ( Crohn’s Disease ) และการมีแผลอักเสบของระบบทางเดินอาหารหรือ UC ( Ulcerative Colitis) ทั้งสองอย่างจะทำให้เป็นตะคริว, น้ำหนักลด, อุจจาระมีเลือด ฯลฯ ซึ่งอาการท้องผูก ก็คือสัญญาณของการติดเชื้อในส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ และมันก็สามารถจะขัดขวางการทำงานของลำไส้เล็กได้ แต่ถ้าหากคุณมีอาการท้องผูกเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีอาการร่วมอื่นๆ ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องของโรคนี้
12. การตั้งครรภ์และการคลอด: ท้องผูกเป็นเรื่องปกติในช่วงตั้งครรภ์ แต่มันก็อาจเป็นปัญหาในการคลอดได้ จากการที่กล้ามเนื้อช่องท้องมีการอุดตัน หรือการให้ยากลุ่มคลายกล้ามเนื้อในระหว่างคลอด นอกจากนี้ ความรู้สึกกลัวอาการไม่สบายต่างๆจากการคลอด ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของท้องผูกได้ อาการบาดเจ็บจากการยืดขยายของกล้ามเนื้อในระหว่างการคลอด บางครั้งก็อาจทำความเสียหายให้กล้ามเนื้อและนำไปสู่อาการท้องผูกได้เช่นกัน
13. โรคเบาหวานหรือความผิดปกติของระบบประสาท: โรคเบาหวานทำให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย และทำให้ร่างกายสูญเสียความสามารถในการย่อยอาหาร คนที่มีโรคเบาหวานจึงมักท้องผูก และถ้าคุณท้องผูกประจำ ก็ควรไป ตรวจน้ำตาลในกระแสเลือดดูด้วย นอกจากนี้ ความผิดปกติของระบบประสาท เช่นโรคการอักเสบของปลอกประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง ( multiple sclerosis) และโรคพาร์กินสัน ก็ทำให้ท้องผูกได้
เห็นไหมคะว่า เรื่องเล็กน้อยของร่างกายก็อาจเป็นสัญญาณปัญหาใหญ่ของสุขภาพที่เราไม่คาดคิดได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการหมั่นสังเกตตัวเองและอย่าละเลยความผิดปกติใดๆแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม การทำตัวขี้สงสัยและหาคำตอบให้ได้กับเรื่องสุขภาพ จะช่วยให้เรารับมือปัญหาได้ตั้งแต่ต้นมือค่ะ