By Pusit Sansopone
เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 19
เที่ยวพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ Louvre ตอนที่ 3
การปรับเปลี่ยนของ Louvre จากการเป็นพระราชวังมาเป็นพิพิธภัณฑ์
กลับมาพูดเรื่อง Louvre จริงๆ แล้วในช่วงที่มีการย้ายเมืองหลวงไปแวร์ซายส์ในช่วง 3 รัชสมัยนั้น ได้มีความคิดจากราชสำนักจะนำเอาวัง Louvre ไปทำประโยชน์ เช่น การทำเป็นหอศิลป์ นำโดย พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ได้นำภาพศิลปะที่พระองศ์สะสมจากวังลุกซอมบูรก์ The Luxembourg Palace โดยมีผลงานสุดยอดจากศิลปินชั้นนำ
เช่น Andrea del Sarto, Raphael, Titian, Veronese, Rembrandt, Poussin มีการเปิดให้สาธารณะชนชมอาทิตย์ละ 2 วัน ทำให้ในรัชสมัยของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มีนโยบายที่จะทำ Louvre ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะเหตุการณ์บ้านเมืองไม่อำนวย จนกระทั่งมาถึงยุคปฏิวัติก็มีการเปิดพิพิธภัณฑ์ Louvre เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ปี ค.ศ 1793 โดยมีภาพวาดชั้นนำ 537 ชิ้น และศิลปวัตถุอื่นๆ อีก 184 ชิ้น โดย 3 ใน 4 ของทั้งหมดมาจากราชสำนัก
ภาพวาดในปี 1810 ของ Louis Léopold Boilly (1761–1845 Paris) ชื่อ The Public Viewing David’s “Coronation” at the Louvre ซึ่งเป็นภาพสาธารณะชนไปชมภาพราชาภิเษกของนโปเลียน Coronation of the Emperor ที่ Louvre ซึ่งวาดโดย Jacques Louise David ศิลปินประจำพระองค์ของนโปเลียน
หลังจากการสลายตัวของการปฏิวัติ เมื่อถึงยุคของ จักรพรรดินาโปเลองโบนาปารด์ หรือ นโปเลียนที่ 1 เข้ามามีอำนาจ ท่านได้เปลี่ยนชื่อพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านเอง โดยใช้ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์นโปเลียน “Museum Napoleon” ในปี ค.ศ. 1803
Napoléon on the Battlefield of Eylau เป็นภาพสีน้ำมันวาดในปี 1808 โดย Antoine-Jean Gros. บรรยายเหตุการณ์หลังการสู้รบที่ ไอลอ โดยในครั้งนั้นกองทัพใหญ่ของนโปเลียนโบนาปาร์ต (Grande Armée )สามารถเอาชนะกองทัพรัสเซียได้ ภาพนี้อยู่ที่ Louvre ในยุคปัจจุบัน เป็นภาพในสไตล์ที่เรียกว่า French Romanticism
เนื่องจากศิลปวัตถุส่วนใหญ่ได้มาจากชัยชนะในสงครามต่างๆ เรียกว่าพิพิธภัณฑ์นั้นล้นไปกับงานศิลป์ที่กองทัพใหญ่ของนโปเลียนโบนาปาร์ต (Grande Armée) ไปกวาดมาจากทั้งทวีปยุโรปรวมทั้งแอฟริกาตอนเหนือโดยเฉพาะประเทศอียิปต์
ภาพวาดงานแต่งงานครั้งที่ 2 ของนโปเลียนกับมารีหลุยส์ ที่ Louvre โดยศิลปินชื่อ Corbis จะเห็นว่าตอนนั้น Louvre เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เต็มรูปแบบแล้ว
หลังจากที่ลูฟว์ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ และได้ทำการอนุรักษ์และนำเสนอผลงานศิลปะนับพันๆ ชิ้น รวมทั้งมรดกของอารยธรรมในอดีต ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 จักรพรรดิได้เปลี่ยนการตกแต่งภายใน และยังได้สร้างประตูชัยที่ยิ่งใหญ่ 2 แห่ง เนื่องจากท่านถือว่าท่านเป็นจักรพรรดิเฉกเช่นจักรพรรดิโรมันแห่งโรมที่มีประเพณีตัดไม้ข่มนาม ด้วยการนำกองทัพเดินลอดประตูชัยเอาฤกษ์เอาชัยก่อน ทำให้ทหารมีกำลังใจและฮึกเหิมและดูเหมือนว่าจะได้ผลดี เพราะกองทัพใหญ่ของนโปเลียนโบนาปาร์ตนั้นแทบจะไม่เคยปราชัยจากการสู้รบ 60 สงคราม นโปเลียนแพ้เพียง 8 ครั้ง ส่วนใหญ่ก็เป็นสงครามหลังจากที่ไม่สามารถบุกยึดรัสเซียได้ก็ไม่ค่อยได้ชนะอีกจนแพ้ครั้งสุดท้ายที่ Waterloo เมื่อปี 1815
ภาพทหารของนโปเลียนสวนสนามลอดประตูชัย Carrousel หน้าวัง Tuileries วาดโดย Hippolyte Bellangé ในปี 1810
ทั้งนี้ นโปเลียนได้สร้างประตูชัยเล็กที่ชื่อการ์รูเซล Arc de Triomphe du Carrousel อยู่ใกล้กับพระราชวัง Tuileries ตรงจุดที่เรียกว่า Place du Carrousel มันถูกสร้างขึ้นระหว่างปี 1806 และ1808 เพื่อรำลึกถึงชัยชนะทางทหารของนโปเลียนเมื่อปีก่อนๆ เช่น ชัยชนะที่ออสเตรียและเพื่อเป็นเกียรติกองทัพอันยิ่งใหญ่ของพระองค์
Arc du Carrousel หรือประตูชัยเล็กนี้ สร้างขึ้นตรงพื้นที่ระหว่าง Louvre และ Palais de Tuileries
มันมี 3 ซุ้มประตู ซึ่งก็ได้ต้นแบบมาจากประตูชัยคอนสแตนตินและประตูชัยเซปติมุส ( Arch of Constantine, Arch of Septimius Severus) ในกรุงโรม ออกแบบโดย Charles Percier และ Pierre François Léonard Fontaine มีจุดเด่นอยู่ที่เสาโครินธ์ทั้ง 8 ต้น ทำจากหินอ่อนสีชมพู และรูปปั้นด้านบนของซุ้มประตูเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะที่เรียกว่า “Triumphal Quadriga” เป็นชุดรถม้าโรมัน Chariot ทองสัมฤทธิ์เทียมม้า 4 ตัวที่นโปเลียนนำมาจากจัตุรัสเซนต์มาร์กในเวนิส โดยตั้งใจจะทำรูปปั้นนโปเลียนเป็นผู้ทรงรถม้าแต่ในที่สุดรูปปั้นทั้งหมดก็ถูกส่งกลับไปยังเมืองเวนิสหลังจากการล่มสลายของ นโปเลียนที่ Waterloo แต่ก็ทำแทนที่ด้วยชุดรถม้าที่สร้างโดย François Joseph Bosio ในปี 1828
ในขณะที่ประตูชัยใหญ่ หรือ ประตูชัยนโปเลียน Arc de Triomphe de l’Étoile ที่อยู่ปลายสุดของถนน Champs Élysées ก็เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์โครินธ์ และได้รับการออกแบบในปีเดียวกัน แต่มันใหญ่กว่าประตูการ์รูเซลถึงสองเท่า ทำให้ยังไม่แล้วเสร็จจนถึงปี 1836 ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ – ฟิลิปป์
สำหรับ Arc de Triomphe de l’Étoile นั้นถูกสลักด้วยชื่อแม่ทัพนายพลของนโปเลียน และชื่อสงครามที่นโปเลียนชนะ มันออกแบบโดย Jean Chalgrin มีต้นแบบเป็นประตูชัยติตัส Arch of Titus ในกรุงโรมแต่ Arc de Triomphe ที่ปารีสสูงกว่ามาก (50 เมตรเทียบกับ 15 เมตร) แต่ก็มีความสมมาตรและมีสัดส่วนที่เท่ากัน
ประตูชัยประดับประดาเป็นปูนปั้นมีมิติที่ส่วนใหญ่เป็นที่ระลึกถึงการสู้รบของจักรพรรดินโปเลียน เช่น การต่อสู้ที่ Aboukir หรือชัยชนะของนโปเลียนเหนือตุรกีและการต่อสู้ Austerliz ที่นโปเลียนชนะออสเตรีย ด้านล่างซุ้มประตูเป็นหลุมฝังศพของทหารนิรนามซึ่งเป็นอาสาสมัครหลายคนที่เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
สาเหตุที่ประตูชัยนี้เรียกว่า Arc de Triomphe de l’Étoile ที่หมายถึงประตูชัยแห่งดาว (l’Étoile) นั้นก็เพราะประตูชัยนี้ตั้งอยู่ที่จัตุรัสดาว หรือ Place de l’Étoile (ชื่อเป็นทางการปัจจุบันคือ Place Charles de Gaulle) เป็นวงเวียนซึ่งมีถนน 12 สายวิ่งเข้าสู่วงเวียนนี้ มองจากด้านบนจะเหมือนดาวกระจายนั่นเอง
เราสามารถขึ้นไปดูวิวกรุงปารีสจากดาดฟ้าของประตูชัยนโปเลียนนี้ ซึ่งเราสามารถมองเห็นวิวของ La Defense, Champs-Elysées และSacré-Coeur แต่ควรใช้อุโมงค์ลอดใต้วงเวียนไปโผล่ที่ประตูชัยอย่าข้ามถนนเด็ดขาดมันอันตรายมาก แต่อย่าคิดว่าได้ขึ้นลิฟท์ไปดาดฟ้านะครับคุณต้องปีนบันได 234 ขั้นเพื่อแลกกับวิวสวยๆ
เมื่อตอนที่ประตูชัยทั้ง 2 แห่งสร้างเสร็จนั้น เราจะเห็นว่ามันมีพระราชวัง Tuileries บังหรือกั้นประตูทั้ง 2 อยู่แบบภาพด้านล่างนี้ครับ
ในขณะที่ปัจจุบันนี้กลับเปิดโล่งก็เพราะต่อมาในปี 1871 พระราชวัง Tuilerie ก็ถูกวางเพลิงในสมัยพระเจ้าหลุยส์ฟิลลิปป์ โดยพวกปฏิวัติหลังจากการที่ท่านไปแพ้สงครามกับปรัสเซียและซากอาคารก็ถูกทุบทิ้งโดยไม่มีการบูรณะใหม่
ในภาพด้านบนจะเห็นส่วน (อาคารที่เป็นสีแดง)ที่เคยเป็นพระราชวัง Tuilerie ที่ถูกไฟไหม้ไปแต่ไม่มีการบูรณะ จึงทำให้ (ดูภาพด้านล่าง)ทิศตะวันตกของ Louvre เปิดโล่งไปหาสวน Tuilerie และได้ทิวทัศน์ที่สวยงามของเมืองปารีส
ซึ่งในยุคของประธานาธิบดี Charles de Gaulle เคยพยายามจะหาทุนสร้างอาคารส่วนนี้ขึ้นมาใหม่เพราะมีแบบของเดิมอยู่แต่แล้วจนถึงวันนี้ก็ไม่มีการสร้างใหม่เพราะใช้ทุนสูงมาก
ดังนั้น Louvre ด้านทิศตะวันตกนี้จึงเปิดโล่งต่อเนื่องกับสวน Tuilerie มองเห็นจัตุรัสกองกอร์และ ต้นถนนชองเซลิเซ ตลอดไปจนถึงประตูชัยนโปเลียน เป็นมุมมองที่สวยงามมากที่หันหน้าไปทางตะวันตกของกรุงปารีส มันถูกเรียกว่าแกนประวัติศาสตร์ของปารีส Paris Axe historique (“historic axis”) ยาว 9 กิโลเมตรเป็นเส้นตรงวัดจากประตูชัยเล็กหรือประตูชัย Carrousel
โดยถ้าเราไปยืนใต้ซุ้มประตูชัย Carrousel และมองไปจะเห็น Landmarks ของกรุงปารีสที่สำคัญเป็นเส้นตรง ตั้งแต่จัตุรัสคองคอรด์ที่มีเสาโอเบลิกซ์ยอดแหลม,ประตูชัยนโปเลียน,ไปสิ้นสุดที่ประตูลาเดฟองซ์ที่เป็นประตูชัยสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 20 สร้างในยุคของประธานาธิบดีฝรั่งเศสฟรองซัวร์มิเตอรงด์ โดยรำลึกถึง 200 ปีแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส 14 กรกฏาคม 1989
ในรูปทรงลูกบาศก์และมีความสูง 110 เมตร Arch ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองอุดมคติด้านมนุษยธรรมมากกว่าชัยชนะทางทหารใดๆ มันทันสมัยมากและค่อนข้างตรงกันข้ามกับความ “เก่า” ของปารีส ทำให้มีทั้งคนรักและเกลียดมัน ผู้ออกแบบเป็นชาวเดนมาร์กชื่อ Otto von Spreckelsen
กลับมาเรื่อง Louvre ซึ่งในที่สุดก็มีการปรับปรุงต่อเติมในส่วนอาคารครั้งใหญ่อีกครั้งในยุคของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ซึ่งทำให้กลุ่มอาคารครบถ้วนเป็นแบบที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้มีการสร้าง ปีก Denon ทางด้านแม่น้ำเซน และ ปีก Richelieu Wing บนถนน Rivori (ดูจากภาพด้านบนก็คืออาคารส่วนที่มี color code เป็นสีส้ม) เพื่อให้ส่วนหนึ่งใช้เป็น พระราชวังของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 Napoleon III ด้วยซึ่งถือเป็น State Apartment ที่ Louvre ซึ่งภายหลังต่อมาก็เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ชม ห้องพักแสดงถึงพลังและความมั่งคั่งของรัฐฝรั่งเศสในเวลานั้น
กลับมาติดตามเรื่องราวของการต่อเติมครั้งสุดท้ายล่าสุด และอาจเป็นครั้งที่ยากที่สุดตั้งแต่มีการพัฒนาปรับปรุงมากว่า 700 ปี ของ Louvre ในตอนต่อไปครับ
Copy right © 2016 The Editors. All right reserved.
For Advertising Contact
086-3260374
, 081-7856188