By Pusit Sansopone
เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 17
เที่ยวพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ Louvre ตอนที่ 1
มีสถาปนิกชื่อดังคนหนึ่งเคยพูดว่า “ประวัติศาสตร์ของกรุงปารีสนั้นมันก็ฝังอยู่ในอิฐหินปูนทรายของอาคารเก่าๆในปารีสนี่แหละ” ดังนั้นถ้าเราศึกษาที่มาของอาคารต่างๆนี้ดีๆก็เหมือนเราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ไปในตัว ผมก็เลยใช้วิธีอธิบายเรื่องราวของเมืองหลวงของของฝรั่งเศสแห่งนี้ผ่านอาคารสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ต่างๆ
ในบรรดาสิ่งก่อสร้างทั้งหลายในกรุงปารีสที่มีอยู่นั้น ไม่น่าจะมีอาคารหรือโครงการไหนที่มีความยิ่งใหญ่เก่าแก่และใช้เวลาต่อเติมปรับปรุงยาวนานข้ามยุคสมัยเหมือนกับพระราชวังแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
ใช่แล้วครับแม้ว่าคุณไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของฝรั่งเศส คุณก็น่าจะรู้จักพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ แต่คุณอาจจะไม่ทราบว่ามันเป็นโครงการที่เริ่มในยุคกลางจากการเป็นป้อมปราการแห่งศตวรรษที่ 12 ที่สร้างขึ้นโดยกษัตริย์ฟิลิปออกุสตุส แล้วเป็นเวลาอีกเกือบเจ็ดร้อยปีที่อาคารแห่งนี้ใช้เป็นพระราชวังที่ประทับหลักของกษัตริย์และจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส City Break ตอนนี้ของเราก็เลยจะพูดถึงประวัติความเป็นมาของที่นี่ก่อนที่ตอนต่อๆ ไปจะพูดถึงสิ่งที่เราต้องไปชื่นชมเมื่อเรามาถึงลูฟว์
ประวัติความเป็นมาของ Louvre
ในปี ค.ศ. 1190 ก่อนที่กษัตริย์ฟิลิปออกุสตุสจะออกไปทำสงครามครูเสดครั้งที่ 3 ซึ่งต้องใช้เวลานาน ท่านรู้สึกเป็นห่วงเมืองปารีสว่าอาจถูกรุกรานระหว่างที่ท่านไม่อยู่ จึงมีดำริให้สร้างกำแพงและป้อมปราการป้องกันล้อมรอบกรุงปารีส เพื่อปกป้องเมืองจากผู้บุกรุกซึ่งกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ก็ในปีพศ. 1202 แม้ในปัจจุบันนี้ป้อมปราการทรงกระบอกที่เป็นส่วนหนึ่งของกำแพงยังมีหลักฐานให้เห็นอยู่ หากท่านไปชมพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ในส่วนที่จัดแสดงงานศิลปะยุคกลางใต้ทางเข้าปิรามิดแก้วที่เรียกว่า Sully Wing และนั่นคือปราสาทลูฟว์ในยุคแรกซึ่งจะมีลักษณะแบบปราสาทยุคกลางตามแบบจำลองที่เห็นตามภาพด้านล่าง
พื้นที่ของ Louvre ยุคแรกนั้นเกือบจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสในมีขนาด 78ม. x 72ม.โดยล้อมรอบด้วยกำแพงหนาถึง 2.6 เมตร โครงสร้างทั้งหมดถูกล้อมรอบด้วยคูน้ำที่ติดอยู่ด้านนอกของกำแพงมีสองหอคอยป้องกันสอดส่องผู้บุกรุก ที่มุมหนึ่งและช่วงกลางของกำแพงทางทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงเหนือจะมีป้อมปราการทรงกระบอก ส่วนทางทิศใต้และทิศตะวันออกกำแพงจะมีทางเข้าเป็นประตูแคบๆ
ที่ป้อมทรงกระบอก (Golden Donjon Tower) ซึ่งสูงสามสิบเมตรและมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เมตรมีผนังหนามาก ล้อมรอบด้วยคูน้ำลึก ห้องพักในป้อมปราการเป็นห้องเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เป็นที่ประทับของกษัตริย์ เพราะกษัตริย์ยังประทับอยู่ที่ Palais de la Cité หรือพระราชวังแห่งเมือง แต่ลูฟว์ก็ได้รับการบูรณะบ่อยครั้งในยุคกลาง ภายใต้หลุยส์ที่ 9 ในช่วงกลางศตวรรษที่ 13 ซึ่งลูฟว์กลายเป็นท้องพระคลัง และภายใต้ราชวงศ์วาลัวส์ บางส่วนก็ใช้เป็นคุกและห้องพิจารณาคดี
จนกระทั่งมาถึงยุคของ พระเจ้าชาลส์ที่ 5 แห่งราชวงศ์วาลัวส์ ที่ได้รับฉายาว่า “ชาลส์ผู้ชาญฉลาด” (Charles V, or Charles the Wise) ช่วงนั้นเกิดของสงครามร้อยปีกับอังกฤษนำโดยกษัตริย์เฮนรี่ที่ 5 ท่านจึงต้องการย้ายไปประทับในพระราชวังที่ปลอดภัยจึงย้ายออกจาก ‘พระราชวังแห่งเมือง’ Palais de la Cité มาอยู่ที่ปราสาทลูฟว์ทำให้ลูฟว์มีการเปลี่ยนแปลงจากป้อมปราการไปเป็นพระราชวัง (Palais du Louvre) ในปี 1863 มีการต่อเติมกำแพงให้สูงขึ้นเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งเพิ่มรายละเอียดของป้อมปราการและยอดแหลมด้านบน ทำให้ Louvre กลายเป็นที่รู้จักในฐานะพระราชวังที่งดงาม
ภาพวาด Charles V’s Louvre ที่ชื่อยุคแห่งความอุดมสมบูรณ์ของดยุคแห่งแบร์รี (‘les très riches heures’ du duc de berry) ซึ่งจะเห็นปราสาท Louvre ที่กลายมาเป็นพระราชวังครั้งแรกในยุคของ พระเจ้าชาลส์ที่ 5
ภาพ Louvre ในช่วงที่เป็น Royal Residence ที่ยังเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุคกลาง
จากนั้นก็ไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไรจนถึงศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นยุคที่เรียกว่า “ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา” ซึ่งเราก็จะถือโอกาสจบเรื่องราวของยุคกลางของปารีสไว้ตรงนี้ เรื่องราวของลูฟว์ก็จะไปต่อในยุค ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาเลยครับ
ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา The Renaissance (1515-1643)
ในขณะที่อิตาลีได้เข้าสู่ยุคเรอเนซองซ์หรือที่เรียกว่ายุคฟื้นฟูศิลปวัฒนาการไปตั้งแต่ช่วงปี 1400 แล้ว ฝรั่งเศสกว่าจะเริ่มก็ต้องรอถึงปี 1515 ในสมัยของ กษัตริย์ฟรองซัวที่ 1 (François 1er หรือถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Francisที่ 1) ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำเรเนซองซ์มาฝรั่งเศส เพราะพระองค์ทรงโปรดด้านศิลปะและการอ่านเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ได้ศึกษาศิลปะของอิตาลีอย่างลึกซึ้งและถึงขนาดเชิญอัจฉริยะแห่งยุคเรอเนซองซ์มาเองเลย นั่นคือ ลีโอนาโด ดาวินซี่ Leonardo da Vinci โดยเริ่มจากการให้มาสร้างปราสาทล่าสัตว์แถวลุ่มแม่น้ำลัวร์ให้พระองค์ที่ชื่อว่า ‘ชองบอรด์’ (Château de Chambord)
ภาพบนคือปราสาทชองบอรด์ (Château de Chambord )ของกษัตริย์ฟรองซัวหรือฟรานซิสที่ 1
และให้เป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาปรับปรุงสถาปัตยกรรมในกรุงปารีส มีการจ้างช่างฝีมือจากอิตาลีเข้าปรับปรุงเปลี่ยนโฉม พระราชวังลูฟว์ Louvre ที่พระองค์ประทับอยู่ตอนนั้นให้สวยงามยิ่งใหญ่ ไม่ให้เชยเหมือนปราสาทยุคกลางที่เป็นอยู่
François 1er ฟรานซิสที่ 1 (1515-1547)
ท่านถือเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะแห่งยุคนี้และนำมาซึ่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของฝรั่งเศส มีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่สำคัญอื่นๆ และการครองราชย์ของพระองค์มีการเพิ่มความสมบูรณ์แบบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการแพร่กระจายของระบอบมนุษย์นิยมและนิกายโปรเตสแตนต์ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการสำรวจโลกใหม่ สำหรับอีกบทบาทของพระองค์ก็คือการพัฒนามาตรฐานภาษาฝรั่งเศส ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักในฐานะพระบิดาแห่งภาษาและจดหมาย
แนวคิดของเรอเนซองซ์ในด้านสถาปัตยกรรม (Renaissance Style) จะเน้นเรื่องความสมส่วนสมบูรณ์แบบเรียบร้อยแบบร่างกายมนุษย์ คือมีฐานรากที่แข็งแรงแบบขาของคน มีส่วนร่างกาย (Body) ที่ได้สัดส่วน มีส่วนหัวที่เป็นหลังคาโดยมีหน้าต่างที่จั่วหลังคาที่เปรียบเหมือนหมวก โดยมีกลิ่นอายและแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมแบบคลาสิกยุคกรีกและโรมันมาประยุกต์ใหม่ให้มีความกลมกลืนสมดุลกับยุคสมัยในขณะนั้น
ในปี ค.ศ. 1528 หลังจากที่กษัตริย์ ฟรานซิสได้กลับจากการถูกจองจำสองปีในอิตาลีและสเปน เนื่องจากความพ่ายแพ้ที่ Pavia (ค.ศ. 1524) ท่านได้กลับมาปรับปรุงพระราชวังลูฟว์ให้กลายเป็นพระราชวังสไตล์เรอเนซองส์ให้เหมือนกับวังในอิตาลีและสเปนตอนที่ท่านได้ประจักษ์ตอนช่วงที่ถูกจับกุม เริ่มจากการทำลายหอคอยใหญ่ทั้ง 4 ที่เรียกว่า “Grosse Tour” โดยในปี 1546 ท่านให้สุดยอดสถาปนิก ปีแยร์ เลสโก้ (Lescots) ผู้ชำนาญสถาปัตยกรรมสไตล์เรเนสซองแบบฝรั่งเศส จากการที่เขาเคยไปศึกษางานศิลปะในอิตาลีและได้คุ้นเคยกับในโครงการปราสาทหรือชาโตต่างๆของหุบเขาแม่น้ำลัวร์ (Loire Valley) มาก่อน ทำให้ได้รับตำแหน่งเป็นสถาปนิกโครงการของการปรับปรุงพระราชวังลูฟว์ แม้ว่าต่อมาฟรานซิสที่ 1ได้สิ้นพระชนม์ลง แต่งานของเขาก็ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้กษัตริย์อองรี ที่ 2*Henry II (1547-1559) กำแพงด้านตะวันตกถูกทำลายและสร้างเป็นพระราชวังเรอเนซองส์ที่มีความยาวเท่ากัน ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี ค.ศ. 1546 ถึงเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 1549 ปัจจุบันเรียกว่า เลส์โก้วิง ( Lescot Wing) ซึ่งวิงนี้ถือว่าเป็นส่วนที่เก่าแกที่สุดของ Louvre เหนือพื้นดิน(เพราะถ้าเป็นใต้ดินจะเห็นส่วนที่เป็นฐานของหอคอยที่หลงเหลืออยู่)
ภาพปีกอาคาร เลส์โก้วิง (Lescot Wing) ซึ่งถือว่าเป็นส่วนของอาคารที่เก่าแกที่สุดของ Louvre เหนือพื้นดินและถือเป็นอาคารแบบเรเนอซองซ์หลังแรกๆ ของปารีส Credit:Pic from Wikipedia
ปีกอาคารเลส์โก้วิง ( Lescot Wing) มีห้องโถงที่เรียกว่า “salle des caryatides” (caryatids คือเสารับน้ำหนักเป็นรูปเทพยาดา อิงงานกรีกและโรมัน) ซึ่งเป็นห้องสำหรับปาร์ตี้หรือห้องบอลรูม มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นที่ห้องนี้มากมาย เช่น การแต่งงานของกษัตริย์อองรีที่ 4, เหตุการณ์สังหารหมู่ St. Bartolomew เนื่องจากสงครามศาสนาคาธอลิคและโปแตสแตนท์, งานศพของ อองรีที่ 4 ตลอดจนการแสดงครั้งแรกของ Molière (นักเขียนบทละครและนักแสดงแบบ comedy ชื่อดังของฝรั่งเศส) ต่อหน้ากษัตริย์หลุยส์ที่ 14 ในวันที่ 16 ตุลาคม 1658
หมายเหตุ* เนื่องจากกษัตริย์ฝรั่งเศสและอังกฤษในช่วงมีสงคราม100 ปีและต่อเนื่องมามีพระนามเหมือนกันบ่อยครั้ง ผมจะพยายามใช้ชื่อเป็นฝรั่งเศสเช่น ‘อองรี’ (Henry)ถ้าเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศส และใช้ชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษถ้าเป็นกษัตริย์อังกฤษ เช่น ‘เฮนรี่’( Henry)
ผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของ Lescot ก็คือ Cour Carrée (Square Court, 1546-1551) ลานจัตุรัสของ Louvreด้านใน และ Hôtel Carnavalet (1545-1550 ) รวมทั้ง Lescot’s Fontaine des nymphes(1549), หรืออีกชื่อคือ Fontaine des innocents น้ำพุผู้ไร้เดียงสา (1547-1549) ดูภาพด้านบน ซึ่งถือเป็นน้ำพุที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงปารีส Credit:Pic from Wikipedia
จากนั้นอองรีที่สองก็ทำลายและสร้างกำแพงด้านใต้ขึ้นใหม่ (1553-1556) โดยมีมุมที่สร้าง king’s pavilion มุขของกษัตริย์ ทำให้ตอนนั้นอาคารมีความหลากหลายไม่เหมือนกันเนื่องจากทั้งสองด้านเป็นพระราชวังสไตล์เรอเนซองส์และอีกสองแห่งยังคงเป็นปราสาทยุคกลางที่มีกำแพงป้อมและหอคอย
ต่อมากษัตริย์อองรีที่ 2 สิ้นพระชนม์ไป พระมเหสีพระองค์ซึ่งก็คือ พระราชินีแคทเธอรีนเดอเมดิชิ (Catherine de Medici) พระนางเป็นชาวอิตาเลี่ยนจากเมืองฟลอเร็นซ์ ต้นกำเนิดสถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์ของจริงซึ่งมักมาพร้อมกับสวนอิตาเลี่ยนแบบเรอเนซองส์ซึ่งยิ่งใหญ่อลังการ พระนางก็เลยอยากได้พระราชวังเรอเนซองส์แท้ๆ พร้อมสวนแบบอิตาเลี่ยนบ้าง พระนางทรงให้สร้าง พระราชวัง Tuileries ที่มีต้นแบบมาจากพระราชวัง Pitti และสวน Boboli ที่พระนางคุ้นเคยตอนอยู่ที่เมืองฟลอเร็นซ์ (แม้ว่าตอนนั้นพระนางอยู่ที่พระราชวังเก่าหรือ Palazzo Vecchio) และเพื่อให้ได้วิวสวยๆ ของแม่น้ำเซนจึงต้องมี Grande Galerie “แกลเลอรี่ตามแนวแม่น้ำ” มันเหมือนเป็นการต่อขยายจากอาคาร Louvre ส่วนเลส์โก้วิง (Lescot Wing) ที่สร้างไว้แล้ว ( แต่มาเสร็จสมบูรณ์ในยุคสมัยของพระเจ้าอองรีที่ 4)
ภาพด้านบนคือ Palazzo Pitti พระราชวังเรอเนซองซ์ยุคแรกถือเป็นต้นแบบของพระราชวังต่างๆ ในยุโรป ซึ่งมีสวน Boboli ถือเป็นสวนอิตาเลี่ยนแบบเรเนซองซ์ (Italian Renaissance garden) มีต้นแบบมาจากสวนโรมัน พระราชวังนี้สร้างโดย Luca Pitti ซึ่งเป็นคหบดีคู่แข่งกับตระกูล Medici ที่ยิ่งใหญ่ของเมืองฟลอเร็นซ์ซึ่งพำนักอยู่ที่ Palazzo Vecchio แต่เนื่องจากการเมืองทำให้พระราชวังนี้ตกเป็นของตระกูลMedici ในที่สุด มีบทบาทไม่ต่างกับ Louvre เพราะเคยเป็นวังแล้วปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ของอิตาลีโดดเด่นเรื่องงานศิลปะของยุคเรอเนซองส์
แน่นอนว่าพระราชวังนี้มาพร้อมกับสวนตุยเลอรี Tuileries ที่ยิ่งใหญ่ พระนางสั่งให้ใช้ landscape architect จากเมืองFlorence ที่ชื่อ Bernard de Carnesse, ให้สร้างสวนในสไตล์ Italian Renaissance garden, มีน้ำพุ มีรูปปั้น และถ้ำ ไม้ดัด รวมทั้งทางกลแบบ labyrinth แต่ต่อมาในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ท่านก็ทรงให้ เปลี่ยนเป็นสวนแบบฝรั่งเศสโดยให้ landscape architect ที่ชื่อ André Le Nôtre, ผู้ที่เป็นหลานของคนจัดการเรื่องสวนในสมัยพระนางแคธอรีนนั่นแหละที่ชื่อ Pierre Le Nôtre ทั้งนี้หลานของตาปิแอร์ได้ไปสร้างชื่อมาแล้วจากการไปออกแบบสวนให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายย์
ดูจากรูปด้านล่างจะทำให้เราเข้าใจพัฒนาการของพระราชวังลูฟร์ในยุคสมัยต่างๆตามที่เล่ามาจนจบยุคของพระเจ้าอองรีที่ 4
Credit:Pic from Wikipedia
แต่จริงๆแล้วไม่แน่ใจว่าสาเหตุของการก่อสร้างพระราชวัง Tuileries นั้น เพราะพระนางต้องการลืมช่วงเวลาหรือวังเก่า Chateau of Tournelles ซึ่งเคยประทับอยู่กับพระสวามีหรือไม่เนื่องจากพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 ในช่วงหลังไม่สนพระทัยใครเลยนอกจากพระสนมเอกที่ชื่อ ดีอาน จากเมืองปัวติเอ Diane de Poitiers ที่มีเสน่ห์และมีความฉลาดแหลมคม เป็นผู้ร่างจดหมายและบทสุนทรพจน์ให้พระองค์ ถึงขนาดที่ตัดบทบาทพระราชินีแคทเธอรีนออกไปจากงานราษฎรงานหลวง นอกจากนั้นยังได้ยกปราสาทกลางแม่น้ำเชอร์(Cher) ที่ชื่อเชนองโซ Château de Chenonceau ที่งดงามและเป็นทรัพย์สินของกษัตริย์ให้ไปทั้งที่รู้ว่าพระราชินีแคทเธอรีนอยากได้มาเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์มานานแล้ว ในขณะที่ดีอานก็มีปราสาทอเนต์ Château d’Anet ที่อยู่ใกล้เมือง Dreux ซึ่งทรงประทานให้ก่อนหน้านี้
รูปนี้ชื่อว่า A Lady in Her Bath วาดโดย François Clouet ว่ากันว่านางแบบในรูปก็คือ Diane de Poitiers
แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าอองรีที่ 2สวรรคต เธอก็เริ่มตกต่ำ เพราะพระนางแคทเธอรีนขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการของฝรั่งเศสเนื่องจากองค์รัชทายาทสืบราชวงศ์ซึ่งเป็นโอรสของพระนางเองยังทรงพระเยาว์จึงเกิดดราม่าบังคับยึดปราสาทเชนองโซคืนมาเป็นของพระองค์ แต่ก็ยังใจดียกปราสาทโชมองท์ Château de Chaumont ให้เป็นการแลกเปลี่ยน ต่อมาในปี 1566 ดีอานก็เสียชีวิตว่ากันว่ามีสาเหตุมาจากการที่เธอบริโภคทองคำเปลว เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้คงความสาวสวยไม่แก่ มาตั้งแต่เป็นสนมเอกของพระเจ้าอองรีที่ 2
ภาพบนคือ ปราสาทกลางแม่น้ำเชอร์ (Cher) ที่ชื่อเชนองโซ Château de Chenonceau
เราคงต้องจบตอนนี้ไว้ในยุคของพระนางแคธรินเดอเมดิชิก่อนครับ แม้ว่าเรื่องราวของพระราชวัง Tuileries ส่วนต่อขยายของ Louvre ยังไม่จบดี จะมีต่อในตอนหน้าครับ
Copy right © 2016 The Editors. All right reserved.
For Advertising Contact
086-3260374
, 081-7856188